สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
4 แนวคิดคนไทยรับมือฝุ่น PM2.5
ฝุ่นขนาดเล็กหรือฝุ่น PM2.5 กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ในตอนแรกจะมีคนเข้าใจผิดคิดว่าท้องฟ้าสีหม่นในยามเช้าคือหมอกชวนสดชื่น ทว่าความสดชื่นที่ใครหลายคนเปิดหน้าต่างรับและสูดหายใจเข้าไปจนเต็มปอดนั้น แท้จริงแล้วคือเจ้าฝุ่นร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง หลาย ๆ คนจึงต้องงัดเอาความรู้ที่มีอยู่มาสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นเพื่อต่อกรกับวายร้ายรายนี้
1. ดัดแปลงเครื่องปรับอากาศให้กลายเป็นเครื่องฟอกอากาศ
เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นอันตรายเช่นนี้ เครื่องฟอกอากาศย่อมกลายเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้านที่ขาดไม่ได้ แต่เมื่อกัลยาณมิตรที่ว่ากลายเป็นของหายาก คุณทอยส์ วล็อกเกอร์ (Toys Vlogger) จากพันทิปจึงเสนอทางเลือกใหม่ในการสร้างมิตรคู่บ้านขึ้นใช้เอง ซึ่งพระเอกของแนวคิดนี้ก็ไม่ใช่ของไกลตัว แต่เป็นแผ่นกรองอากาศที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเครื่องปรับอากาศของเรานั่นเอง
ปกติแล้วเครื่องปรับอากาศที่เราใช้กันจะมีแผ่นกรองอากาศที่คอยดักจับฝุ่นละอองทั่วไปที่อยู่ในอากาศอยู่แล้ว ทำให้อากาศที่ตัวเครื่องปล่อยออกมามีปริมาณฝุ่นน้อยลง แต่ฝุ่น PM2.5 ตัวร้ายมีขนาดเล็กกว่าฝุ่นทั่วไปมาก ทำให้แผ่นกรองอากาศที่มีอยู่แล้วในตัวเครื่องไม่สามารถดักจับวายร้ายรายนี้ได้ คุณทอยส์ วล็อกเกอร์จึงเสนอให้ติดแผ่นกรองอากาศที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น PM2.5 เพิ่มลงไปบนแผ่นกรองอากาศเดิม ซึ่งแผ่นกรองชนิดนี้ถักทอด้วยเส้นใยความถี่สูงกว่าแผ่นกรองปกติ จึงดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กได้ดีกว่า แต่แนวคิดนี้ก็มีข้อจำกัดที่ว่า การติดแผ่นกรองที่มีความถี่สูงเพิ่มเข้าไปอาจทำให้ลมไหลผ่านแผ่นกรองได้น้อยลง ทำให้ตัวเครื่องทำงานหนักขึ้นและใช้ไฟฟ้ามากขึ้น จากพระเอกที่จะคอยช่วยดักจับฝุ่นร้าย ก็อาจกลายเป็นตัวร้ายที่จะสูบเอาเงินไปจากกระเป๋าแทนได้
2. เปลี่ยนพัดลมเป็นเครื่องฟอกอากาศ
แนวคิดนี้ก็ยังคงมีแผ่นกรองอากาศเป็นพระเอกอีกเช่นเคย เพียงแต่เจ้าของแนวคิดได้เปลี่ยนดาวเด่นจากเครื่องปรับอากาศมาใช้พัดลมที่ประหยัดไฟมากกว่าแทน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อใบพัดของพัดลมหมุนก็จะดูดอากาศมาจากด้านหลังแล้วปล่อยออกมาทางด้านหน้า คุณทอยส์ วล็อกเกอร์จึงเสนอให้ติดแผ่นกรองอากาศเพิ่มเข้าไปด้านในตะแกรงหลังของพัดลม การติดแผ่นกรองเพิ่มเข้าไปแบบนี้จะช่วยกรองเอาฝุ่นละอองออกไปในตอนที่อากาศไหลผ่านตะแกรงหลัง ทำให้ลมที่พัดลมปล่อยออกมามีปริมาณฝุ่นลดน้อยลง แต่แนวคิดนี้เหมาะจะนำไปใช้กับพัดลมที่มีตะแกรงหน้าหลังแบบหน้าตัดแบน เพื่อให้แผ่นกรองอากาศที่ติดเพิ่มเข้าไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง
3. ไบโอฟิลเตอร์ : เครื่องมือดักจับฝุ่นจากมอส
นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการดัดแปลงของใกล้ตัวมาต่อกรกับฝุ่นร้ายแล้ว ก็ยังมีการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างโครงการสกายการ์เด้นอีกด้วย คุณณภัทร ศรีกายกุลจากบริษัทเอิร์ธ คราฟต์ ทีเอชได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศเยอรมันที่ใช้มอสติดตั้งกับพัดลม ทำให้อากาศไหลเวียนและทำให้ฝุ่นลดน้อยลง จึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยร่วมกันสร้างเครื่องมือดักจับฝุ่นหรือไบโอฟิลเตอร์ โดยมีพระเอกของโครงการเป็นมอสที่สามารถดักจับฝุ่นได้ เนื่องจากมอสจะสร้างสารเคลือบผิวขึ้นมากักเก็บน้ำและความชุ่มชื้น ตัวสารเคลือบผิวนี้เองที่จะเป็นเหมือนกาวดักจับฝุ่นร้ายในอากาศแล้วย่อยสลายมันให้กลายเป็นปุ๋ย ทีมวิจัยจึงนำมอสมาทดลองในห้องปิดพร้อมติดตั้งระบบลม แล้วปล่อยควันและมลพิษต่าง ๆ เข้าไป พบว่ามอสทำให้ปริมาณฝุ่นค่อย ๆ ลดน้อยลงจนกระทั่งหมดไปในที่สุด
นอกจากแนวคิดนี้จะช่วยกำจัดฝุ่นร้ายให้หมดไปได้แล้ว ก็ยังถือว่าส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไทยอีกด้วย เพราะตัวมอสต้นแบบเองเป็นมอสเมืองหนาว หากโครงการสามารถพัฒนามอสที่เติบโตในไทยขึ้นมาได้ มอสชนิดนี้ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น และจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แนวคิดนี้จึงถือเป็นการฟอกอากาศให้สะอาดไปพร้อมกับการสร้างอาชีพให้กับคนไทยไปในตัว
4. DustBoy : เครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์
ทั้งภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านของเราต่างก็เจอปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าและซากอ้อยมานานนับปี ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงจับมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในภาคเหนือจัดทำแผนวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” และพัฒนา DustBoy ขึ้นเพื่อใช้วัดค่าฝุ่นและจัดเก็บข้อมูล
DustBoy จะใช้เซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่นในอากาศทั้ง PM10 และ PM2.5 แล้วส่งสัญญาณไปยัง BigQuery ที่ทำหน้าที่ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแล้วแสดงผลออกมา 2 รูปแบบ คือ รายชั่วโมงและราย 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางการแสดงผล 2 ช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผ่านการแจ้งเตือนในแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา
ทางโครงการยังขยายพื้นที่ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนอีกด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาวิเคราะห์และเตรียมพร้อมแก้ปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
นับว่าการคุกคามของฝุ่นร้ายในครั้งนี้ทำให้คนไทยตื่นตัวถึงอันตรายของการใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศที่เลวร้ายได้ดีเลยทีเดียว บางแนวคิดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการหยิบยกเอาของใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ บางแนวคิดก็มุ่งกำจัดฝุ่นร้ายในระยะยาวด้วยการนำความรู้ที่มีมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ แต่ทุกแนวคิดต่างก็มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน นั่นคือการมุ่งหน้าสู่สังคมปลอดฝุ่นที่ทุกคนจะใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ
แหล่งที่มาเว็บไซต์ :
https://pantip.com/topic/37868254
https://pantip.com/topic/38495463
https://www.innnews.co.th/social/news_321654/
https://www.bbc.com/news/av/magazine-40433931/unleashing-the-power-of-moss-to-clean-cities
แหล่งที่มา :
โครงการการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ
Monitoring and Evaluation of Haze Management Program
ภายใต้แผนงานวิจัย "ประเทศไทยไร้หมอกควัน". (2561). DUST BOY: เครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ
ด้วยระบบเซ็นเซอร์ เชื่อมต่อข้อมูลด้วยระบบสถาปัตยกรรมเน็ตเวิร์คอัจฉริยะ. รายงานแผนงานวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน.