สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
3 Step การพัฒนา Innovation กับ IP ที่ไม่ควรมองข้าม
นวัตกรรม (Innovation) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต้องใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ และประสบการณ์ทางเทคโนโลยีหรือการจัดการมาพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต หรือบริการใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทุ่มเททั้งด้านการลงทุนและใช้ความคิดอย่างมาก ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมย่อมไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาละเมิดสิทธิหรือลอกเลียนแบบสินค้าของตน ซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นทำให้เสียชื่อเสียงอันเนื่องมาจากสินค้าลอกเลียนแบบไม่มีคุณภาพและไม่ผ่านมาตรฐาน
อย่างเช่น บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “PAC” คือ ผู้สร้างสรรค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน จุดเด่นเทคโนโลยีของ PAC คือการนำพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน PAC จดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องทำน้ำร้อนชนิดใช้ความร้อนจากแหล่งระบายความร้อน” และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งในประเทศและในตลาดเป้าหมายต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย บูรไน เคนยา จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาว มัลดีฟส์ และ พม่า เพื่อคุ้มครองให้บริษัทเป็นผู้มีสิทธิเฉพาะแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า ทำให้ PAC ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนสามารถขยายตลาดได้อย่างมั่นใจ จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทต่อกระบวนการพัฒนานวัตกรรมซึ่งขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของแต่ละบริษัท
ดังนั้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการพัฒนานวัตกรรมจนถึงการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ (Commercial) ดังนี้
1. Idea & Feasibility Study
เริ่มต้นจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์ ทำการสืบค้น Patent Search และ Patent Mapping เพื่อศึกษาเทรนของเทคโนโลยีที่สนใจสำหรับต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการวิจัยซ้ำซ้อน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และพิจารณาความเสี่ยงว่าจะละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้องและถูกเรียกร้องค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้
.
2. R&D and Improved Product
การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นความลับขององค์กร จำเป็นต้องใช้มาตรการความลับทางการค้า (Trade Secret) ในการบริหารจัดการ หรือถ้าหากว่าผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์นั้นมีความใหม่ จะสามารถดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นการขอรับความคุ้มครองก่อนการประชาสัมพันธ์หรือขายผลิตภัณฑ์ ตามเงื่อนไขของสิทธิบัตรแต่ละชนิด และการยื่นจดสิทธิบัตรในแต่ละประเทศใช้ระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน
.
3. Marketplace & Licensing
การนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาภายในองค์กรหรือการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี (Licensing) ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมั่นใจ ต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เจ้าของมีสิทธิตามกฎหมายเพียงผู้เดียว และจำเป็นต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ณ ประเทศที่ต้องการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ คือ “จดที่ประเทศไหนคุ้มครองที่ประเทศนั้น” ใครจะมาก๊อบปี้ไม่ได้
เห็นได้ว่าการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาจำเป็นต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน จำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายของธุรกิจ หรือ Business Model เพื่อวางกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เหมาะสม ซึ่งต้องใช้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ซึ่ง NIA ได้มีจัดฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคอร์สออนไลน์ (IP Webinar) และออฟไลน์ (IP Awareness) สำหรับผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม IP NextWork สร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจเดียวกันและเพื่อนต่างกลุ่มธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.nia.or.th