สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จากใจ 3 ผู้ประกอบการหญิงคนเก่ง บนเส้นทางสตาร์ทอัพ

บทความ 16 มีนาคม 2563 3,906

จากใจ 3 ผู้ประกอบการหญิงคนเก่ง บนเส้นทางสตาร์ทอัพ


หากพูดถึงแวดวงสตาร์ทอัพไทย ภาพในหัวของคนส่วนใหญ่อาจนึกถึงการรวมตัวกันของหนุ่มๆ ไฟแรง ที่งัดเอาไอเดียทางธุรกิจเจ๋งๆ มาแข่งขัน เพื่อคว้าเงินลงทุนไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด แต่จริงๆ แล้วในวงการนี้ยังมี ‘ผู้หญิงเก่ง’ อีกจำนวนไม่น้อยที่มี Passion พร้อมเลือกที่จะลงแข่งในสนามธุรกิจนี้ และสามารถที่จะต่อยอดไอเดียร่วมกับเทคโนโลยีจนกลายมาเป็นธุรกิจนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจ


และในโอกาสเดือนแห่งสตรีสากล NIA ได้เชิญผู้ประกอบการสาวสุดสมาร์ททั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณภรณี วัฒนโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FinGas คุณอัมภาพัตร ฉมารัตน์ Co-Founder แอปพลิเคชัน Kids Up และคุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ริเริ่มไอเดีย Bangkok Rooftop Farming สวนผักดาดฟ้ากลางกรุง มาร่วมแชร์ไอเดียและประสบการณ์การทำงานในแวดวงสตาร์ทอัพให้ทุกคนได้ฟังกัน โดยเฉพาะผู้หญิงคนไหนที่สนใจก้าวเข้ามาในวงการสตาร์ทอัพ ยิ่งไม่ควรพลาด!


มุมมองของพวกเธอนั้นจะน่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้มากน้อยแค่ไหน ตามไปดูกันเลย!

“ผู้หญิง” กับ “เทคโนโลยี” ไม่ใช่เรื่องยาก หากรู้จักที่จะเรียนรู้

“ต้องนำตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ” ความคิดแรกเริ่มที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง “คุณส้ม – ภรณี วัฒนโชติ” และเพื่อนๆ ที่มีความฝันเดียวกัน ตัดสินใจก้าวเท้าเข้ามาที่ NIA เพื่อขอรับคำปรึกษาในการพัฒนาโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยที่ทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์ในสายงานด้านนี้มาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเธอใช้เวลาไปไม่น้อย กว่าไอเดียธุรกิจจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NIA เพื่อไปต่อยอดพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง


จนกำเนิดเป็น “ฟินแก๊ส” (FinGas) ธุรกิจนวัตกรรมที่มาพร้อมสโลแกนแสนเก๋ “แก๊สหมด กดฟินแก๊ส” ซึ่งคุณส้มเล่าให้ฟังว่า FinGas เป็นเหมือนแอปพลิเคชัน “อูเบอร์สำหรับแก๊สหุงต้ม” ที่ให้ครัวเรือนหรือพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารสามารถออเดอร์แก๊สได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยระบบจะแจ้งไปยังร้านจำหน่ายแก๊สใกล้เคียงที่มีสินค้า และสามารถจัดส่งได้ทันที ซึ่งนอกจากจะช่วยลูกค้าลดขั้นตอนยุ่งยากในการโทร. สั่งร้านแก๊ส ยังได้รับของรวดเร็ว และไม่จำเป็นต้องสต็อกแก๊สไว้ระหว่างวัน ในขณะเดียวกันด้านร้านจำหน่ายแก๊ส ก็สามารถบริหารงานทั้งเรื่องการจัดส่ง การเก็บเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้บริการกับทางร้านมาก่อนได้ด้วย


แม้เส้นทางการเติบโตของ FinGas จะมีความขรุขระและคดเคี้ยวไปบ้าง แต่สำหรับคุณส้มแล้ว ความสนุกของการทำสตาร์ทอัพ คือการได้ร่วมคิด ร่วมทำ เรียนรู้จากความผิดพลาด และการได้มองเห็นธุรกิจเติบโตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง นับว่า FinGas เป็นหนึ่งคลื่นลูกใหม่ ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจแก๊สหุงต้มของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาท ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณผู้หญิง หากไม่หยุดที่จะเรียนรู้

ถ้าเรามองปัญหา ก็จะเห็นปัญหา แต่ถ้าเรามองหาทางแก้ ก็จะนำไปสู่นวัตกรรม

“รถติดหน้าโรงเรียน” เป็นเรื่องชวนปวดหัวที่ “คุณเอ้ – อัมภาพัตร์ ฉมารัตน์” คุณแม่ที่ต้องดูแลลูกชายวัย 14 ปี เจอกับตัวเองมานานหลายปี จนเธอตัดสินใจปักธงไว้อย่างชัดเจนว่า สักวันเธอและสามีอยากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติดด้วยตนเอง โดยหลังจากที่วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา เธอพบว่าที่รถติดหนักๆ เป็นเพราะเด็กๆ มักจะกะเวลาที่ผู้ปกครองมารับไม่ถูก ผู้ปกครองเองก็คาดเดาสภาพการจราจรไม่ได้เช่นกัน เห็นดังนั้นเธอจึงปิ๊งไอเดียในการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ นั่นก็คือแอปพลิเคชัน “คิดส์อัพ” (Kids Up) 


Kids Up มีฟังก์ชันที่ให้ผู้ปกครองกดแจ้งกับโรงเรียนเมื่อกำลังเดินทางไปรับบุตรหลาน ซึ่งระบบจะเชื่อมต่อกับกูเกิ้ลแพลตฟอร์มและช่วยคำนวณระยะเวลาในการเดินทาง ในขณะเดียวกันด้านโรงเรียนก็จะเชื่อมฐานข้อมูลเด็กกับผู้ปกครอง แล้วแสดงผลบนจอโทรทัศน์ เพื่อให้ทีมจราจรและคุณครูสามารถตามตัวเด็กๆ มาได้ตรงกับเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะเดินทางมาถึง โดยผู้ปกครองไม่ต้องจอดรถรอให้เป็นปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ของ Kids Up ที่คุณเอ้ภาคภูมิใจนั้น ไม่ใช่แค่การจราจรที่ดีขึ้น แต่ผลพลอยได้ที่ได้รับกลับมาคือ ความปลอดภัยของบุตรหลานที่เพิ่มขึ้น การสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยลง และอากาศบริสุทธิ์ที่คืนสู่ชุมชนรอบๆ โรงเรียน


“การมีคุณผู้หญิง จะช่วยเติมเต็มองค์กร และการทำงานให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น” นี่คือสิ่งที่คุณเอ้ ซึ่งทำสตาร์ทอัพร่วมกับสามี เล่าให้กับ NIA ฟัง เพราะเธอเชื่อว่าไม่ว่าเพศไหนต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป และสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของผู้หญิง ก็คือ “ความละเอียดรอบคอบและการทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งมีส่วนช่วยนำทางองค์กร ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง

 “นวัตกรรม” ไม่ได้มีแต่เรื่อง “เทคโนโลยี”

“พี่อยากสร้างบ้านเราให้น่าอยู่เท่าที่จะทำได้” ความฝันที่ทำให้ “คุณหนู - ปารีณา ประยุกต์วงศ์” ผู้ริเริ่มไอเดีย Bangkok Rooftop Farming ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาจับงานนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อเนรมิตย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ด้วยการออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเศษอาหาร ที่เป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน มาแปลงเป็นปุ๋ยและดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกสวนผักกลางเมืองที่สามารถนำกลับไปบริโภค และเป็นโมเดลให้คนในย่านอนุสาวรีย์ใช้เป็นต้นแบบได้


ถึงจะเป็นไอเดียที่ใครได้ยินก็คงยิ้มชอบกัน แต่กว่าจะมาเป็น Bangkok Rooftop Farming นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นโครงการที่จะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่งตัวคุณหนูต้องอาศัยความอดทน และทักษะการสื่อสาร เพื่อรวบรวมเครือข่ายทั้งกลุ่มกิจการเพื่อสังคม คนในชุมชน รวมถึงภาคธุรกิจ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และองค์กรต่างๆ ในย่านอนุสาวรีย์ฯ และพัฒนากระบวนการตั้งแต่การแยกขยะเปียกที่มีปริมาณมหาศาล การวางแผนจัดสรรพื้นที่ ระบบบริหารในแปลงเกษตรลอยฟ้า ไปจนถึงช่องทางจำหน่ายผักสลัดที่ปลูก ร่วมกันกับทุกคน ซึ่งแม้โครงการจะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่นวัตกรรมเชิงไอเดียดีๆ ของคุณหนู กลับช่วยเพิ่มสวนผักดาดฟ้าไปแล้ว 2 แห่ง และช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารต่อวันได้ถึง 150-200 กิโลกรัม


สิ่งที่คุณหนูลงมือทำ เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า “นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ สิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเธอขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีฝันอยากเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ให้กล้าคิดและกล้าลงมือทำ เพราะโอกาสในปัจจุบัน ทั้งแหล่งความรู้ เงินทุนสนับสนุน และองค์กรที่สามารถให้คำปรึกษาได้นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตมาก