สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA’s Journey, กว่าจะเป็น ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ’ อย่างทุกวันนี้ ... ไม่ง่าย

บทความ 5 กันยายน 2562 5,884

NIA’s Journey, กว่าจะเป็น ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ’ อย่างทุกวันนี้ ... ไม่ง่าย


คำว่า ‘นวัตกรรม’ ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ในทางทฤษฎีหมายถึง ‘สิ่งที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยี ความคิด หรือผลิตภัณฑ์ก็ได้’ ทว่าในทางปฏิบัติ ‘นวัตกรรม’ คือ ‘ความหวัง’ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)’ หรือ NIA ที่เติบโตเข้าสู่ปีที่ 10 ในปี 2562 และมีจุดยืนเพื่อเป็นสะพานเชื่อมทุกภาคส่วนให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System, NIS) แต่กว่าจะก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ ตลอดเส้นทางการเรียนรู้และเติบโตผ่าน 4 ยุคแห่งการพัฒนาสำนักงานนวัตกรรมนั้น เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญและบุคลากรผู้สนับสนุนองค์กรอันสมควรถูกบันทึกไว้เป็นบทเรียนทรงคุณค่ายิ่ง

ยุคที่ 1 : ก่อนก่อตั้งกองทุนพัฒนานวัตกรรม (2541-2545)


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ช่วงมรสุมเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ สาเหตุเกิดจากประเทศไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต ตอนนั้นแนวคิดเรื่อง ‘นวัตกรรม’ ยังไม่ปรากฏชัดเจนในสังคมไทย เป็นเพียงเรื่องของการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นน้อยมากเท่านั้น ภาครัฐจึงระดมความคิดกันก่อตั้งคณะกรรมการนโยบายกองทุนและคณะกรรมการจัดการกองทุนเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (กปพ.) ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญในระยะแรกคือการผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนานวัตกรรม (กพน.)’ อันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งนี้ทิศทางการทำงานในระยะแรกของ กพน. นั้นมุ่งเน้นไปที่การให้เงินสนับสนุนแก่เอกชนในโครงการที่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ดีขึ้น

ยุคที่ 2 : จากกองทุนนวัตกรรมสู่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (2546-2551)


หลังจาก กพน. มุ่งอัดฉีดเงินให้ภาคเอกชน SMEs และผู้ประกอบการต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2542 ผู้บริหารและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้ตระหนักว่าควรมีระบบอื่น ๆ เข้ามารับมือความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในระดับโลก จนในที่สุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติจัดตั้ง ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)’ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา ซึ่งมีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการและมีบทบาทเชิงรุกที่กว้างขวางครอบคลุมกว่า กพน. เป้าหมายสำคัญคือการสนับสนุน เชื่อมโยง และประสานทุกภาคส่วนในสังคม ให้มุ่งไปสู่ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เน้นพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 5 สาขา ได้แก่ 1.อาหารและสมุนไพร2.ยางและผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา 3.ซอฟต์แวร์และแมคาทรอนิกส์ 4.ยานยนต์และชิ้นส่วน และ 5.การออกแบบเชิงวิศวกรรมและเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก กพน. เรียกได้ว่ามีทั้งโครงการที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว จากบทเรียนที่เกิดขึ้น ทำให้ สนช. มองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาในเชิงรุก นั่นคือการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคควบคู่กับด้านการเงินให้มีช่องทางในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อศึกษาว่าเทคโนโลยีใดที่ภาคเอกชนควรลงทุนและมีตลาดรองรับ

ยุคที่ 3 : ก้าวสู่องค์การมหาชน (2552-2561)


ผลจากการมุ่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติมาอย่างยาวนาน ทำให้ในปี 2552 บทบาทของ สนช. เข้าสู่รูปแบบ ‘การเป็นเพื่อนกับผู้ประกอบการ’ ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมเทียบเท่ากับจุดกำเนิดที่แท้จริงของ สนช. โดยมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)’ ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552 ส่งผลให้  สนช. มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเต็มตัวและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจน เริ่มมีนโยบายในการสนับสนุนระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อนำองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ จนช่วง พ.ศ. 2554-2556 ได้มีการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการในการก้าวสู่การแข่งขันในระดับประชาคมอาเซียน (AEC) ผ่านโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ต่อด้วยปี 2558 ที่มุ่งสู่การขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมด้วยการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และในช่วงปี 2557-2560 นั่นเองที่บทบาทของ สนช. เปรียบเสมือนผู้ลากเส้นต่อจุดเพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศนวัตกรรมเข้าด้วยกัน  โดยในปี 2561 สนช.ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเร่งทำงานผ่านกลยุทธ์สำคัญ 3 ประการ คือกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมมุ่งเป้า (Thematic Innovation) , กลยุทธ์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) และ กลยุทธ์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Innovation) และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ดำเนินงานด้าน Acceleration Program เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวข้ามกรอบเชิงพื้นที่ และเติบโตสู่ระดับสากลแบบก้าวกระโดด


ยุคที่ 4 : เมื่อ ‘นวัตกรรม’ คือยุทธศาสตร์ชาติ (2562-2565)


การเติบโตสู่ปีที่ 10 มาพร้อมกับโจทย์ใหญ่ของประเทศเมื่อรัฐบาลชูธงด้าน ‘นวัตกรรม’ ไว้ในนโยบายการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580), แผนการปฏิรูปประเทศไทย 11ด้าน, นโยบายประเทศไทย 4.0, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12, รวมทั้งแผนพัฒนานโยบายและแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติฉบับที่ 1 (2555-2564) ด้วยเหตุนี้ ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)’ จึงเป็นเป้าหมายที่วางกรอบแผนการดำเนินงานไว้ในช่วงปี 2562–2565 และมีความตั้งใจจะพัฒนาองค์กรโดยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงตอบโจทย์กับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่ไม่อาจรับมือได้ด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียวเช่นที่แล้วมา


10 ปีที่ผ่านมาอาจพูดได้ว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้ง สนช. และประชาชนในประเทศเพื่อร่วมมือกันเชื่อมประสานปลุกเร้าและสร้างพลังใจให้แก่ทุกองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยพาเราก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมของเราเอง เช่นเดียวกับบทบาทที่จะเปลี่ยนจากหน่วยงานสนับสนุนทุนทางนวัตกรรมให้แก่เอกชน มุ่งสู่การเป็นองค์กรเร่งการพัฒนาและการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับระบบนวัตกรรมแห่งชาติของประเทศไทยและสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมทั้งในภูมิภาคนี้และระดับโลกในอนาคตอันใกล้


.

แหล่งข้อมูล : หนังสือ 10th Year NIA: Toward Innovation Nation