สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

บ่มเพาะต้นกล้า "เยาวชน" สู่การเติบโตอย่างงดงามในโลกอนาคต

บทความ 14 กรกฎาคม 2565 2,991

บ่มเพาะต้นกล้า "เยาวชน" สู่การเติบโตอย่างงดงามในโลกอนาคต

ทักษะความรู้ที่เกิดขึ้นในอดีตอาจไม่ได้รองรับการดำรงชีวิตในอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงกำหนดให้ วันที่ 15 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันพัฒนาทักษะเยาวชนระดับโลก (World Youth Skills Day)” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะการทำงาน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศและการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกในอนาคต 

 

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เด็กจบใหม่ทำงานไม่ได้ ไม่อดทน” ซึ่งเสียงสะท้อนของปัญหาเล่านี้ดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปีไม่สามารถระบุทักษะที่จำเป็นต่อตนเองและการทำงานได้ บางส่วนเลือกเรียนสาขาวิชาตามกระแสนิยมแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ชอบ ผลที่ตามมาคือตนเองมีทักษะไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่สนใจ เยาวชนบางส่วนขาดความรู้ในการเตรียมตัวก่อนเริ่มเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน เนื่องจากเมื่อพ้นช่วงของวัยเรียนก็กระโดดเข้าสู่โลกของการทำงานจริงโดยที่ยังไม่ได้เตรียมตัว จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง สับสน และไม่รู้ว่าต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดการเลิกจ้างหรือบางธุรกิจต้องล้มเลิกกิจการไป รวมถึงการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์มากขึ้น ยิ่งทำให้อัตราการจ้างงานเยาวชนลดลงกว่า 12% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  

โอกาสและความพร้อมในการพัฒนาทักษะเยาวชน

บทความขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือUNICEF ได้กล่าวถึง 4 ข้อที่จะช่วยพัฒนาทักษะของเยาวชนไว้ดังนี้

1) การพัฒนาระบบเชื่อมโยงทักษะของเยาวชนในรูปแบบที่สามารถวัดผล ติดตาม และสามารถประเมินทักษะ รวมถึงการสร้างกิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่เยาวชน
2) การกำหนดนโยบายร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อยกให้เป็นนโยบายระดับชาติในการพัฒนาทักษะให้กับเยาวชน
3) การสร้างมาตรฐานในการใช้เทคโนโลยี เช่น บล็อคเชน เพื่อให้เยาวชนสามารถลงทะเบียนและจัดเก็บทักษะของตนเองในระบบได้อย่างน่าเชื่อถือ และ
4) การพัฒนาทักษะสำคัญเชิงพื้นที่ของเยาวชนในแต่ละท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มคนทางการศึกษาและสมาคมต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะของเยาวชนแบบองค์รวมร่วมกันทุกภาคส่วนโดยมีเยาวชนเป็นศูนย์กลาง 


จากประโยคชวนคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้กับเยาวชนก่อนเข้าสู่โลกของผู้ประกอบการและวัยทำงานอย่างเต็มรูปแบบ คำตอบคือ เป็นไปได้แน่นอน หากทุกหน่วยงานร่วมมือกันและเยาวชนตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน ดังเช่นที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรพันธมิตร เพื่อพัฒนาระบบเรียนรู้ติดตาม วัดผล และประเมินผลทักษะนวัตกร “InnoLab” ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการเรียนรู้และติดตามผลของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการภายใต้ STEAM4INNOVATOR ที่เข้าถึงการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ได้


กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของเยาวชนในโลกอนาคต

จากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ในอเมริกา หรือ K12 ได้ให้ข้อมูล 7 ข้อสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของเยาวชนเพื่อให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตได้ ดังนี้

  1. ความฉลาดรู้ด้านการเขียนโค้ด (Coding Literacy) ซึ่งจะเป็นทักษะพื้นฐานที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในอนาคต 
  2. เยาวชนคือผู้สร้าง (Students as Creators) ไม่ใช่เพียงผู้รับข้อมูลแต่จะเป็นเหมือนผู้ที่สามารถออกแบบและสร้างผลงานของตนเองได้ด้วย 
  3. รู้ลึก รู้จริง ความฉลาดทางอารมณ์ (Empathy and Emotion Understanding) โดยต้องเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในโลกอนาคต 
  4. เรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative learning) เพื่อสร้างความร่วมมือให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันจะเกิดการต่อยอดทางความคิดได้ดียิ่งขึ้น พร้อมจะเก่งไปด้วยกัน
  5. ครอบครัวและสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชน (Family and Community Involvement) ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของโรงเรียนเท่านั้น ทุกคนในสังคมจะต้องมีส่วนร่วมช่วยกันส่งเสริมพัฒนาทักษะของเยาวชนให้รอบด้าน 
  6. รูปแบบการเรียนรู้แบบเฉพาะคน (Individualized Learning) ตามความสามารถและลักษณะการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล 
  7. พื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ไม่จำกัดกรอบ (Redesigning learning Spaces) โดยจะต้องเป็นอิสระ ยืดหยุ่น เพื่อสอดรับกับความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาเยาวชนอย่างไร้ขีดจำกัดของความสนใจของผู้เรียน


บ่มเพาะต้นกล้าสู่การเติบโตอย่างแตกต่างและสร้างสรรค์

จากข้อมูลเชิงวิชาการที่เผยแพร่ให้เราได้ทราบถึงแนวโน้มและความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนอย่างมากมาย จึงเกิดคำถามขึ้นได้ว่า  “ตอนนี้เราได้เริ่มลงมือช่วยกันพัฒนาทักษะของเยาวชนอย่างจริงจังแล้วหรือยัง” ซึ่งเยาวชนเป็นเสมือนต้นกล้าที่ถูกบ่มเพาะ เพื่อให้เติบโต ผลิดอก ออกใบในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ดังนั้น ทักษะที่จะช่วยส่งเสริมเพิ่มเติมจึงเปรียบเสมือนการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำ ที่ย่อมมีความต้องการและความเหมาะสมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง NIA ตระหนักและเข้าใจความต่างของเยาวชน เพราะเยาวชนคือกำลังสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ ด้วยการเติบโตอย่างแตกต่างและสร้างสรรค์ไปเป็นนวัตกรในอนาคต จึงได้พัฒนาโครงการที่หลากหลายภายใต้แผนงาน STEAM4INNOVATOR ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างทักษะนวัตกร ผู้ที่จะสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม โดยในกระบวนการ มีการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม การต่อยอดแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถวัดผลและส่งเสริมทักษะให้สอดคล้องกับช่วงวัยและความสนใจที่หลากหลายของเยาวชน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยพัฒนาเยาวชนได้เรียนรู้ทักษะนวัตกรที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตและเติบโตอย่างสร้างสรรค์ตามเส้นทางของตนเอง  เพราะโลกอนาคตคือโลกที่คนรุ่นใหม่ในแต่ละรุ่นจะส่งเสริม สร้าง และวางรากฐานที่ดีให้กับประเทศต่อไป


ที่มาข้อมูล


บทความโดย
ศดานันท์ ล้อเพ็ญภพ (เป็ด)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)