สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“The Future of Work 2030” อนาคตการทำงาน ใน 8 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ?

17 กรกฎาคม 2565 5,084

“The Future of Work 2030” อนาคตการทำงาน ใน 8 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ?


อนาคตควรรู้! โลกการทำงานจะเปลี่ยนไปแค่ไหนและจะมีอะไรเข้ามาเปลี่ยนชีวิตการทำงานของเราบ้าง  

ท่ามกลางการแข่งขันของโลกที่เข้าสู่ยุค Digital Economy ทุกคนทราบกันไหมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่ที่อันดับ 38 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ ซึ่งประเมินโดย The IMD World Digital Competitiveness Ranking ในปี 2021 รวมถึงดัชนี Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2021 ก็มีการขยับขึ้นเช่นเดียวกันจากอันดับที่ 44 เป็นอันดับที่ 43 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงได้กำหนดนโยบายและจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยมีส่วนงานหนึ่งที่ผลักดันและสร้างองค์ความรู้ด้านการมองอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือ Future Readiness ให้ทั้งกับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ทั้งองค์กรและบุคคลสามารถปรับตัวตามพลวัตของโลกได้ รวมถึงสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ทั้งในภาคธุรกิจและในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ผ่านหน่วยงานที่มีชื่อว่า สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute) หรือเรียกสั้นๆ ว่า IFI

และที่ผ่านมา IFI ได้ทำการศึกษาแนวโน้มอนาคตร่วมกับ FutureTales LAB by MQDC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ โดยจัดทำรายงานวิจัยการคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 ขึ้นมา เพื่อเป็นการฉายภาพอนาคตให้เห็นว่าประเทศไทยในอีก 8 ปีข้างหน้าจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบใดและมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ผ่านหลายแง่มุมตั้งแต่ Future of Living อนาคตของการใช้ชีวิต Future of Work อนาคตของการทำงาน Future of Learning อนาคตของการเรียนรู้ Future of Play อนาคตของความเพลิดเพลิน Future of Mobility อนาคตของการเดินทาง และ Future of Sustainability อนาคตของความยั่งยืน

โดยในวันนี้เราได้หยิบประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “Future of Work อนาคตของการทำงาน” มาให้ทุกคนได้ศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะฉากทัศน์ในอนาคต (Scenarios) ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้าทิศทางการทำงานของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือกับหลากหลายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1. Get out, Human!” การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่หุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทแทนที่มนุษย์ AI  และหุ่นยนต์จะกลายเป็นกลุ่มใหญ่ในโลกของการทำงาน ส่วนคนธรรมดาทั่วไปจะกลายเป็นส่วนน้อยเพราะศักยภาพของคนมีจำกัด องค์กรและผู้ประกอบการต่างๆ พยายามลดขนาดขององค์กรลง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเริ่มมีการนำศักยภาพของ AI ไปประยุกต์ใช้กับทุกอุตสาหกรรมแล้ว ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนหนังไซไฟ แต่เรื่องนี้กำลังจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ถ้าไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะให้ตอบรับกับอนาคตของการทำงานอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับบุคคลและองค์กร

2. Monday Again?? การทำงานอย่างหนักท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เพราะกลไกทางเศรษฐกิจจะบีบให้ผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วก็จะยิ่งรายได้น้อยลงเพราะไม่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะของตัวเอง และในมุมของเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารองค์กรก็จะไปในทิศทางที่คล้ายกัน องค์กรที่จะอยู่รอดต้องมีเงินทุนและมีความสามารถในการปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ทำให้คนส่วนใหญ่จึงยังต้องทำงานอย่างหนัก หรือหางานพิเศษทำเพิ่ม จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจในรูปแบบ Gig Economy คือเทรนด์การจ้างงานแบบชั่วคราว หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตำแหน่งงานมีความหลากหลายขึ้น องค์กรจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน

3. “Happy Work, Happy Life” การหาความสุขในชีวิตและการทำงานเพื่อปรับสมดุลชีวิต จากสองปัจจัยข้างต้นทำให้คนโหยหาความสุขในชีวิตมากขึ้น ในแง่การทำงานในระดับองค์กร ผู้คนจะมองว่าการทำงานต้องมีความยืดหยุ่น มีการประเมินผลจากความสามารถและผลงานที่ทำได้จริง เพราะเมื่อทุกคนมีความสุขมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีมากขึ้นตามมาเช่นกัน ผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของบริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์ในองค์กรเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีนโยบายการ Work From Home หรือเลือกเวลาการทำงานได้ ไปจนถึงเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้คนทำงานได้มีเวลาเพิ่มทักษะการทำงานหรือจัดสมดุลชีวิตในแบบ Work-Life Balance ให้ดีมากยิ่งขึ้น

4. UBI as a Life Funder” การมีสวัสดิการและหลักประกันรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้า จากการประกาศใช้นโยบาย Universal Basic Income ของรัฐ คืออีกแนวทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการทำงานในอนาคตได้ เพราะถ้ารัฐสามารถกระจายสวัสดิการรายได้พื้นฐานอย่างเท่าเทียม และมีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ต่องานในอนาคต ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเลือกอาชีพที่ชอบ รูปแบบการทำงานที่ใช่ สายงานที่สนใจตอบโจทย์ชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลถึงรายได้ขั้นพื้นฐานที่จะได้รับ มีรายได้มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แถมยังมีเวลาเหลือสำหรับการทำงานเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยหรือสตาร์ทอัพเองก็สามารถนำรายได้ขั้นพื้นฐานไปต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น

ในปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศฟินแลนด์ที่ได้มี Pilot Project ทดลองจ่ายเงินเดือนให้กับคนจนและคนว่างงานเป็นเวลา 2 ปี ผลปรากฏว่าทำให้คนมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยลง แม้จะไม่ช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานก็ตาม แต่แนวคิดนี้ก็สามารถนำไปพัฒนาในเชิงนโยบายได้อีกในอนาคต

ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นเพียงฉากทัศน์ในอนาคตเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ถ้าคุณอยากเข้าใจอนาคตโดยภาพรวมมากยิ่งขึ้น ก็สามารถไปติดตามรายงานการวิจัยต่อได้ที่ลิงก์ด้านล่างได้เลย หรือถ้าใครชอบฟัง Podcast เราก็มีรายการ “Future Meme” ที่พูดคุยถึงอนาคตทั้ง 6 มิติอย่างเข้มข้นและสนุกสนาน โดยเราได้รวบ Playlist มาให้คุณได้ฟังแล้วตามรายละเอียดลิงก์ด้านล่างเช่นกัน

ศึกษารายงานวิจัยนี้เพิ่มเติมได้ที่ > https://www.nia.or.th/FuturesandBeyond-Navigating-Thailand-toward-2030

คลิก! เพื่อฟังรายการ “Future Meme” > https://soundcloud.com/niathailand/sets/futures-meme

ข้อมูลจาก : รายงานวิจัยการคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 โดย NIA ร่วมกับ FutureTales LAB by MQDC