สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ส่องความเคลื่อนไหว วงการสตาร์ทอัพไทย เปิด 5 สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีหากอยาก Go Global

27 กันยายน 2567 5,019

ส่องความเคลื่อนไหว วงการสตาร์ทอัพไทย เปิด 5 สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีหากอยาก Go Global



🚀 ในสมรภูมิการแข่งขันของเหล่าสตาร์ทอัพ มีหลายบริษัทจากประเทศไทยที่ทำผลงานได้ดีจนเข้าตานักลงทุน

🧫 จากความสำเร็จของบริษัท ‘ยูนิฟาร์ส (UniFAHS)’ สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่พัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมชีวภาพสำหรับทำลายเชื้อซาลโมเนลล่าในลำไส้สัตว์แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ สตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ผ่านกลไก “Groom Grant Growth” ตลอดมา โดยเมื่อต้นปี 2024 ก็ได้รับความเชื่อมั่นจาก A2D Ventures โดยได้รับการสนับสนุนจาก Asian Development Bank Ventures หรือ ADB Ventures และ InnoSpace Thailand จนสามารถปิดดีลรับเงินร่วมลงทุนในการขยายธุรกิจไปกว่า 46 ล้านบาท 

🛵 ย้อนกลับไปในช่วงปี 2023 มีปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท LINE MAN Wongnai ได้กลายเป็นยูนิคอร์นรายที่ 3 ของประเทศ  และยังมีสตาร์ทอัพรายอื่นที่สร้างผลงานโดดเด่น     จนทำให้ภาพรวมการลงทุนในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นช่วง Funding Winter ที่การระดมทุนมีความยากลำบากกว่าปี 2022 มาก แต่ยังสามารถระดมทุนรวมกันไปได้มากกว่า 18.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสาขา FinTech และ Health Tech ที่เป็นอุตสาหกรรมเด่น มีผู้เล่นหลากหลาย เช่น ARINCARE, HD, ooca, FINNOMENA, MONIX  ฯลฯ

ภาพความสำเร็จนี้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ทอัพไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะช่วยกันผลักดันและสนับสนุน ส่วนสตาร์ทอัพเองก็ต้องพัฒนาตัวเองให้พร้อม โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายไปสู่ระดับ Global วันนี้ จะพาไปดู 5 สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ “ต้องมี” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ตลาดโลก 

👨‍💼 มีทักษะด้านภาษา
การสื่อสารคือหัวใจสำคัญ “ทักษะด้านภาษา” จึงไม่ใช่แค่ความสามารถ แต่เป็นบัตรผ่านไปสู่โอกาสความร่วมมือของตลาดสากล ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ทุกคนใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน สตาร์ทอัพจึงต้อง Upskill ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการขยายตลาดและเครือข่ายทางธุรกิจ เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งการที่สตาร์ทอัพสามารถสื่อสารด้วยภาษาของประเทศนั้นๆ ได้ ก็อาจจะทำให้สามารถครองใจลูกค้าและคู่ค้าของประเทศนั้นๆ ได้ นอกจากนี้การเข้าใจภาษาที่หลากหลายยังช่วยในการค้นหาข้อมูลจากงานวิจัย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น 

✍ มีความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
นวัตกรรมมีทั้งผลงานในรูปแบบที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะให้สิทธิผู้คิดค้นในการใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าจากนวัตกรรมเหล่านั้น ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความก้าวหน้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจากผลการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาพบว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้นเพียง 10% จะช่วยให้การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้มากถึง 50% เลยทีเดียว 

👥 มี Mentor หรือ ที่ปรึกษา
ไม่มีใครที่ทำงานได้ดีหมดทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว นวัตกรส่วนใหญ่ต่างมีจุดแข็งที่การสร้างนวัตกรรม แต่อาจขาดความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย การเงิน หรือการตลาด จึงต้องมีที่ปรึกษาเพื่อคอยให้คำแนะนำในส่วนที่ผู้ประกอบการมองข้าม ซึ่งที่ปรึกษาจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์สูง สามารถนำเสนอแนวทางหรือกลยุทธ์ในมุมมองที่แตกต่างได้ 

♻ มีการขานรับเทรนด์ธุรกิจสีเขียว
การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพ จากเจตนารมณ์ในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีความสำคัญระดับเป็นภารกิจโลก หลายภาคส่วนจึงมีการปรับตัว สร้างแนวทางการทำงานเพื่อขานรับ โดยเฉพาะสถาบันการเงินอย่างธนาคารที่เริ่มมีสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว จนเกิดเป็นการผลักดัน Green Finance ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 

🤝 มีแนวทางสนับสนุนจากภาครัฐ
ในการเติบโตไปสู่ตลาดสากล ปกติแล้วภาครัฐแต่ละประเทศจะมีแนวทางในการส่งเสริมผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การพาสตาร์ทอัพไปร่วมงานแสดงสินค้า (Trade Show) การจัดอบรม รวมถึงการมีเม็ดเงินสนับสนุน  ซึ่ง NIA ก็เป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีการสนับสนุนผ่านโครงการอบรมบ่มเพาะ และสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการขยายฐานลูกค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญยังมีการเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทย ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายในระดับสากล

ปี 2024 เป็นปีที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยยังคงเผชิญความท้าทาย แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นจุดหมายที่น่าจับตาของนักลงทุน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่มีความพร้อม ตลาดหุ้นมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาแข่งขันได้  ประกอบกับจุดเด่นด้านต้นทุนการลงทุนในสตาร์ทอัพของไทยไม่ได้สูงมาก  จึงเป็นความหวังของหลายภาคส่วนว่าในอนาคตธุรกิจสตาร์ทอัพไทยจะเติบโตไปสู่ระดับโลกได้ไม่ยาก

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.nia.or.th/unifahn 
https://techsauce.co/news/how-nia-support-thai-startup-ecosystem-2024 
https://techsauce.co/tech-and-biz/startup-thailand-2023-wrapped-trend-2024 
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/122660#google_vignette 
https://medium.com/the-existing/ปรึกษาธุรกิจคืออะไร-consultant-ทำไมธุรกิจใหญ่ๆถึงมี-97676b3b6842 
https://www.thairath.co.th/money/sustainability/green_finance/2788187 
https://www.ttbbank.com/th/fin-biz/financial-and-digital-solutions/ps-tradefx22 
https://www.nationthailand.com/thailand/policies/40035067 
https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1133489 
https://bit.ly/3YZDQTP