สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
"ทรัพย์สินทางปัญญา" กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ในยุคที่เศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นวัตกรมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สร้างสรรค์ “นวัตกรรม” เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อสังคม นวัตกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจจะสร้างความแตกต่างที่เป็นอัตลักษณ์ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ หากแต่โลกของธุรกิจย่อมมีคู่แข่งทางการค้าซึ่งอาจจะมาในรูปแบบที่ไม่ชอบธรรมและมักเกิดขึ้นบ่อยๆ กับสินค้าที่ได้รับความนิยม นั่นคือ การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ ที่แม้ว่าจะคล้ายกันแต่กลับไม่มีคุณภาพและไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน เข้าใจผิด และหมดความเชื่อมั่น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และยอดขายนำมาซึ่งความเสียหายต่อธุรกิจ
ทั้งนี้ “นวัตกร” ในฐานะผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมสามารถปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกลอกเลียนแบบได้ด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 26 เมษายน ของทุกปี เป็นวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยในปีนี้ WIPO ได้กำหนดธีมวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก คือ “ผู้หญิงและทรัพย์สินทางปัญญา: การเร่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์”
จะเห็นได้ว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้นำสังคม รวมทั้งการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจโดยสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน หรือ TVCA พบว่า ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงมีประมาณ 17% โดยสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงมีการพัฒนานวัตกรรมได้หลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม การบริการ สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร รวมถึงด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งสามารถสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค และตอบโจทย์คุณค่าที่สังคมและภาคเศรษฐกิจต้องการ อีกทั้งสัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมจากทาง NIA ของผู้หญิงก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
NIA จึงขอพาไปรู้จักกับ “นวัตกรหญิง” ที่เข้าร่วมโครงการแข่งขันประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค "นิลมังกร แคมเปญ" รุ่นที่ 2 รอบภูมิภาค ได้แก่ ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ (แอม) ผศ.ดร.ธันยวัน สวนทวี (เพื่อน) และทีมงาน ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด
ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในด้านการผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ และใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและกรรมวิธีการผลิตได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร (Pretty Patent) ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับคุ้มครองการประดิษฐ์แล้วในประเทศไทยในรูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาวผลิตด้วยเทคโนโลยีการเปลี่ยนรูปร่างและเนื้อสัมผัสของโปรตีนให้คงรูปแบบเส้นที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม แต่ยังคงคุณค่าของโปรตีนในไข่ขาวไว้เหมือนเดิม และสามารถเก็บได้นานถึง 18 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น ภายใต้แบรนด์ “Eggyday” ที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) แล้ว ถือเป็นอาหารทางเลือกใหม่สำหรับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้สูงวัย คนลดน้ำหนัก และกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้อย่างยิ่ง
และคุณวรพชร วงษ์เจริญ (นุ่ม) ซีอีโอ บริษัท แรบบิทจันท์ จำกัด ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจาก “มะปี๊ด” ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรี โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการคั้นสดและการฆ่าเชื้อด้วยวิธีสเตอลิไรซ์ที่ควบคุมอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม เพื่อผลิตน้ำมะปี๊ดบรรจุขวดโดยที่ไม่มีรสชาติขม ไม่มีชั้นของน้ำมันหอมระเหย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถเก็บรักษาได้นาน 1 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Rabbit Chan” โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นภาพกระต่ายกับดวงจันทร์ และงานสร้างสรรค์การออกแบบฉลากบนขวดบรรจุภัณฑ์ ได้จดแจ้งลิขสิทธิ (Copyright) ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างแบรดน์และความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ คุณนุ่มยังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ “มะปี๊ด” เข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อที่จะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรกว่า 100 ครัวเรือนได้ต่อไป
การสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือธุรกิจนวัตกรรม “นวัตกร” ต้องใช้ทรัพยากรทั้งกำลังคน เงินลงทุน และเวลาในการวิจัย หากว่านวัตกรมีความเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับธุรกิจ พร้อมทั้งการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศอย่างมั่นใจ ซึ่ง NIA ได้จัดทำหลักสูตรเสริมองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินปัญญา สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://moocs.nia.or.th/course/category/innovative-entrepreneur นอกจากนี้ ยังมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่าง “เสือติดดาบ” เพื่อให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมได้ใช้บริการที่ปรึกษาในราคาสุดพิเศษ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://regional.nia.or.th/th/calendarnia/article/detail/id/5/iid/71
บทความโดย
เปรมนภา โชติญาณพิทักษ์ (ตาล)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)