สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดวิทยายุทธ์เยอรมนี พี่ใหญ่เศรษฐกิจแห่งยุโรป ผู้ผลิตสินค้าให้คนทั้งโลกยอมรับ

24 สิงหาคม 2566 4,578

เปิดวิทยายุทธ์เยอรมนี พี่ใหญ่เศรษฐกิจแห่งยุโรป ผู้ผลิตสินค้าให้คนทั้งโลกยอมรับ


หนึ่งในหนังที่กำลังได้รับความสนใจ และถูกนำมาพูดถึงอย่างมากมายในเวลานี้ ก็คือ Oppenheimer ของ Christopher Nolan ที่ทำให้เราเห็นว่า ‘สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี’ มีนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกอยู่มาในทุกยุคทุกสมัย

ไม่ว่าจะเป็นอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะก้องโลก, โยฮันน์ คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ เจ้าของฉายาเจ้าชายแห่งคณิตศาสตร์, มักซ์ พลังค์ ผู้บุกเบิกการศึกษาทฤษฎีควอนตัม ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งรวมนักคิดผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกวิทยาศาสตร์ เยอรมนีนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมและการผลิต จนสินค้าต่างๆ ที่ติดป้ายว่า Made In Germany ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคว่ามีคุณภาพ บวกกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความล้ำหน้าไปอีกก้าว

แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเยอรมนี สามารถผลิตสินค้าที่ไม่ว่าจะส่งออกไปประเทศไหน ก็มีคนอ้าแขนรอรับอยู่เสมอ ?

สิ่งสำคัญอย่างแรกสุดก็คือ “ความก้าวหน้าทางวิศวกรรม” ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการปฏิรูปการศึกษา ที่ประเทศเยอรมนีตัดสินใจเลือกวางรากฐานการศึกษาที่เน้นไปทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงทำให้เกิดการก่อตั้งวิทยาลัยทางด้านเทคนิครูปแบบงานช่างและวิศวกรรมขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างการสร้างนวัตกรรมแท่นพิมพ์เครื่องแรกของโลก ที่เป็นรากฐานสำคัญต่อระบบความคิด การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาการและการพัฒนาในด้านต่างๆ  

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะทุกภาคส่วนยังร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่ภาครัฐซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนในการศึกษา ด้วยการช่วยกำหนดหลักสูตรให้กับโรงเรียนวิชาชีพ ทำให้ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตแรงงานที่พร้อมเริ่มงานได้ทันทีแบบที่มีทักษะความรู้ตรงตามความต้องการของตลาด หรืออย่างในระดับมหาวิทยาลัย รัฐบาลยังสนับสนุนให้ทั้ง 2 ภาคส่วนมีการทำงานวิจัยร่วมกันอย่างจริงจัง ในระดับที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจสร้างผลตอบแทนได้จริง ซึ่งสามารถนำส่วนนี้กลับมาเป็นทุนให้กับงานวิจัยใหม่ๆ ต่อไป 

จึงไม่แปลกเลยที่ประเทศเยอรมนีจะสามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมออกมาได้มากถึง 35.8% ทำให้ ในปี 2022 อันดับตัวชี้วัดจำนวนผู้จบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม สูงเป็นอันดับที่ 7 จากการจัดอันดับของดัชนีนวัตกรรมโลกซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

แต่แค่การปฏิรูปการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถมาถึงขั้นนี้ได้ หากไม่มี “การสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิต” ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศนี้ มีการกระจายตัวออกไปยังภูมิภาคต่างๆ โดย 8 ใน 10 ของบริษัทที่แยกกันออกไป ยังช่วยเปิดโอกาสให้ชาวเยอรมันในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และต่อยอดไปยังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจายตัว

ด้านการสนับสนุนเงินทุน ประเทศเยอรมนีก็มีการทำงานอย่างเป็นแบบแผน ตั้งแต่มาตรการภาษี ที่แม้ว่าประเทศนี้จะเก็บภาษีในอัตราที่สูงติด 1 ใน 5 ของโลก แต่ก็แลกมาด้วยรัฐสวัสดิการที่สามารถนำมาสนับสนุนภาคการศึกษา จึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถใช้ภาษีส่วนนี้กลับมาช่วยลดค่าครองชีพบางส่วนให้กับนักเรียนนักศึกษา และยังสามารถนำมาสนับสนุนเป็นทุนเรียนฟรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศนี้มีการให้ทุนสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย

ทางด้านงานวิจัย ก็เป็นอีกประเด็นที่ทุกภาคส่วนในประเทศเห็นความสำคัญ เห็นได้จากการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ ในปี 2020 ที่ผ่านมา เยอรมนีมีการให้งบส่วนนี้สูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 3.1% ของ GDP และในปีต่อมายังได้สร้างกรอบนโยบาย Innovationsland.Bayern ที่ต้องการจะเพิ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนาไปให้ถึง 4% ภายในปี 2030 พร้อมกับเดินหน้าสนับสนุนทุนวิจัยระดับสูง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เยอรมนี สามารถติดอันดับที่ 9 จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกในด้าน Gross expenditure on R&D ซึ่งแสดงถึงค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา

จากภาพที่ว่ามาจึงพอจะเห็นได้ว่า เหตุใดเยอรมนี ถึงเป็นประเทศที่มียอดนักคิด ผู้สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือการแพทย์ กล้องถ่ายภาพ และขาดไม่ได้เลยก็คือพาหนะสัญจรอย่างรถยนต์ ซึ่งมีแบรนด์ระดับโลกที่หลายคนคุ้นเคยทั้ง Mercedes-Benz, Porsche, BMW, Audi และ Volkswagen เยอรมนียังสามารถส่งออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และมีมูลค่าแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกเท่ากับ 627.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021

โดยหลังจากนี้รัฐบาลก็จะยังคงดำเนินงานตามเป้าหมาย Industry 4.0 ที่จะทำให้เยอรมนีกลายเป็นฐานการผลิตที่ทันสมัยมากที่สุดภายในปี 2025 โดยต้องการรักษาการเป็นผู้นำด้านการผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมมากที่สุดในโลก พร้อมกับต้องการก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยีทางด้านงานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อครองตำแหน่งผู้นำโลกไว้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าเป้าหมายที่ว่านี้จะสำเร็จตามกำหนดเวลาหรือไม่ อย่างไรมาตรฐานของสินค้าที่ได้ชื่อว่า Made In Germany ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้คนทั่วโลกต่อไปอยู่ดี

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_2000_2022/de.pdf 
https://www.takieng.com/stories/25922 
https://www.iretutor.com/th/articles/250374-german-engineering-country 
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=42657 
https://www.longtunman.com/32967 
http://johjaionline.com/on-looker/4-อันดับประเทศที่มีอัตราการเสียภาษีมากที่สุดในโลก/ 
https://globthailand.com/germany-251121/ 
https://piu.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2018/06/Germany.pdf