สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

CIM City เมืองนวัตกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริม Thailand MICE พร้อมจับตาทิศทางในตลาดโลก

23 มกราคม 2567 3,312

CIM City เมืองนวัตกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริม Thailand MICE พร้อมจับตาทิศทางในตลาดโลก


ก่อนจะไปดูทิศทางของอุตสาหกรรมไมซ์ เรามาทำความรู้จักกับ “CIM City” ที่เป็นแผนความร่วมมือในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์กันก่อนดีกว่า !

📈 CIM City ย่อมาจากคำว่า Creative + Innovation + MICE City เป็นความร่วมมือในการสร้างเมืองเพื่อรองรับ MICE Industry หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานอีเวนต์ ที่มีมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปี 2023 พบว่ามีจำนวนผู้ที่เข้ามาเปิดประสบการณ์ร่วมงานไมซ์ในไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 128%  สิ่งสำคัญคือจำนวนเม็ดเงินที่ถูกจับจ่ายจากคนกลุ่มนี้ ยังมีสัดส่วนมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 2-3 เท่า 

แต่ทว่าการจะสร้างเมืองให้มีศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การหาเอกลักษณ์เพื่อสร้างจุดขายในแต่ละพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ และใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ จึงเกิดเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ NIA TCEB และ CEA ที่จะร่วมกันสนับสนุนในบทบาทที่แตกต่างกัน 

🧑‍💼โดยบทบาทของ NIA จะเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ผ่านย่านนวัตกรรมด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายพาร์ทเนอร์ แหล่งเงินทุน  ในขณะที่ TCEB  จะดูแลในส่วนของการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ และ CEA  จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักสร้างสรรค์มาเจอกัน เปิดทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาผลงานอย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

📑 นอกจากวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ CIM City แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะพลาดไม่ได้ก็คือ การอัปเดต 7 เมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมไมซ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยให้ทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้จัดงานได้ใช้ประโยชน์ในการตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึง ซึ่งเป็นข้อมูลการ Foresight ของ TCEB จากงานแถลงทิศทางการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 2567 โดยจะมีอะไรบ้างไปดูกัน

📱 เริ่มจากเทรนด์ที่ 1 Technology enhancement คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ร่วมงาน โดยกว่า 82.9% มองว่า ต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาคอยอำนวยความสะดวก และให้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อย่างเช่น การสร้างระบบการลงทะเบียนดิจิทัล หรือ VR แนะนำผังงานเพื่อช่วยในการประหยัดเวลาเพื่อไปยังพิกัดที่ต้องการ

🗨️ เทรนด์ที่ 2 Direct-to-big customer มาจากความต้องการของผู้ร่วมงานที่ต้องการติดต่อพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจ ผู้ผลิต หรือกูรูตัวจริงที่มาจัดแสดงภายในงานโดยตรงแบบไม่ผ่านคนกลาง เพราะมองว่าจะได้รับข้อมูลที่ตรงใจกว่า โดยยังมองว่านี่คือหนึ่งใน Service ที่ผู้จัดงานควรมีให้ 

🤝 เทรนด์ที่ 3 Value on experience & new type of destination คือการที่ผู้เข้าร่วมคาดหวังว่าต้องได้รับคุณค่า หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับไปจากการมาเข้าร่วมงาน เช่น การสร้าง Connection สร้าง Business matching หรือการแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งผู้จัดจะต้องมองหา Insight และสร้างโอกาสให้เกิดประสบการณ์เช่นนั้นได้

♻️ เทรนด์ที่ 4 Sustainability Practice คือการจัดการงานอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการพูดมานาน โดย 51.9% ของผู้เข้าร่วมมองว่ายอมจ่ายแพงได้ หากผู้จัดสามารถแสดงผลลัพธ์ในการส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การลดใช้วัสดุที่เป็น Single-use ส่งเสริมใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง โดยพัฒนาเส้นทางและจุดรับส่งผู้โดยสารให้เชื่อมต่อกัน ไปจนถึงการจัดกิจกรรมให้มีการชดเชยคาร์บอนเครดิต 

🏞️ เทรนด์ที่ 5 Regionalization สถานที่จัดงานแสดงต่างๆ จะเริ่มมุ่งเน้นไปที่การรวมตัวในภูมิภาคที่มีความโดดเด่นตามแต่ละอุตสาหกรรม จึงต้องเสริมสร้างจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงการเดินทางที่สะดวก ประหยัดเวลาและงบประมาณในการเดินทางควบคู่กัน

📣 เทรนด์ที่ 6 Mice for brand building สำหรับทิศทางนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการโดยตรง เพราะการมาออกงานแต่ละครั้ง ถือเป็นโอกาสอันดีในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบริการ องค์ความรู้ รวมไปถึงการบอกถึงเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต ซึ่งช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์  สามารถนำมาใช้เป็นยุทธวิธีทางการตลาด สร้างภาพจำเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นถึง Destination หรือแม้แต่ DNA ของธุรกิจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

🔀 สุดท้ายเทรนด์ที่ 7 Flexibility & Resilience ผู้ประกอบการต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม หรือแม้แต่ผู้จัดงานเอง ก็ต้องมองไปถึงรูปแบบของงานที่ไม่ตายตัว สามารถผสมผสานทั้งงานสัมมนา งานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า ที่สามารถสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ หลากหลาย และสร้างประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ 

ทุกวันนี้...อุตสาหกรรมไมซ์กลายเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ NIA จึงเห็นความสำคัญ และร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ภายใต้พันธกิจหลักในการสร้างโอกาสการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับภูมิภาค เมือง และย่านนวัตกรรม เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเป็นพลังขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมของไทยต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://intelligence.businesseventsthailand.com/en/page/mice-dashboard 
https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/detail/1091-what-does-a-mice-city-do-mice-cities-drive-thailands-sustainable-economy 
https://www.cea.or.th/th/news-updates/site-2023 
https://mgronline.com/business/detail/9660000096376 
https://www.facebook.com/miceinthailand/videos/1043325593482522