สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จาก Input สู่ Output แปลงทรัพยากรเป็นผลผลิตนวัตกรรม

23 กรกฎาคม 2568 94

จาก Input สู่ Output แปลงทรัพยากรเป็นผลผลิตนวัตกรรม


#GIISeries | หากจะวัดความสำเร็จของอะไรสักอย่าง “ผลลัพธ์” มักเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ เช่นเดียวกับระบบนิเวศนวัตกรรม ที่คุณภาพของผลงานนวัตกรรม สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าระบบนวัตกรรมของแต่ละประเทศเข้มแข็งอย่างไร 🦾

📊 นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII)” ไม่ได้พิจารณาเพียงในฝั่งของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation Inputs) ในเชิงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนบุคลากรที่มีทักษะ คุณภาพของสถาบันการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่สนับสนุนเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับ “ผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output Sub-Index)” ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนประสิทธิภาพของระบบนวัตกรรมที่ได้ลงทุนและพัฒนาไป ที่เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้จากกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้จากการลงทุนและกิจกรรมด้านนวัตกรรม ตัวอย่างที่ชัดเจนของผลผลิตทางนวัตกรรม เช่น จำนวนสิทธิบัตรที่จดทะเบียน จำนวนสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกสู่ตลาด การสร้างธุรกิจใหม่ (Startups) และการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น

โดย WIPO ได้แบ่งผลผลิตทางนวัตกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Outputs) และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs) สำหรับปัจจัยด้านผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี จะมีการพิจารณาภายใต้ 3 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่

📑การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Creation) เป็นการพิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิบัตร สิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค รวมไปถึงจำนวนวารสารและบทความต่างๆ ที่ได้รับการอ้างอิงในแต่ละประเทศ

🏗️ ผลกระทบที่เกิดจากองค์ความรู้ (Knowledge Impact) เป็นการสะท้อนถึงความเข้มแข็งและการเติบโตและของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเติบโตของแรงงาน มูลค่าโดยรวมของธุรกิจยูนิคอร์นในประเทศ การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

✈ การเผยแพร่องค์ความรู้ (Knowledge Diffusion) ที่จะวัดผลด้านการส่งออก ทั้งในแง่ของสินค้าที่มีความซับซ้อน เทคโนโลยีขั้นสูง บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีการพิจารณารายได้ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และการรองรับระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานในการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ

กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมและผลผลิตทางนวัตกรรมเป็นแบบ พึ่งพาอาศัยกันและเป็นวงจรต่อเนื่อง เห็นได้จากประสิทธิภาพทางนวัตกรรมเกิดจาก GII Score จะคำนวณจากค่าเฉลี่ยร่วมของสองส่วนนี้ หากปัจจัยนำเข้ามีคุณภาพสูงแต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นผลผลิต (Output) ได้ดี แสดงว่ายังมีประสิทธิภาพต่ำ เช่น การลงทุนใน R&D คุณภาพของสถาบันการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และนโยบายรัฐมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมในเชิงประจักษ์ ในทางกลับกัน หากมีผลผลิตนวัตกรรมต่ำแม้จะลงทุนสูง อาจสะท้อนถึง ช่องว่างในระบบนวัตกรรม เช่น ขาดกลไกเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคเอกชน หรือขาดความสามารถในการนำความรู้ไปใช้เชิงพาณิชย์

ดังนั้น ปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมที่แข็งแกร่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ผลผลิตทางนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น ลองนึกภาพประเทศที่ลงทุนมหาศาลในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Input) ย่อมมีแนวโน้มที่จะผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีความสามารถ ซึ่งจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตรและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ (Output) มากขึ้น ซึ่งผลผลิตทางนวัตกรรมที่สูงเป็นตัวบ่งชี้ว่าปัจจัยนำเข้าที่จัดสรรไปนั้นถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่ใช่แค่การลงทุนมาก แต่ต้องลงทุนอย่างชาญฉลาดและเกิดผลลัพธ์จริง

🇨🇭 หนึ่งในประเทศต้นแบบด้านผลผลิตนวัตกรรมที่โดดเด่นคือ “สวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งครองอันดับ 1 ของดัชนีนวัตกรรมโลกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่หนึ่งในปัจจัยด้านผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ซึ่งมีจุดแข็งทั้งเรื่องจำนวนคำขอจดสิทธิบัตร สัดส่วนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การส่งออกเทคโนโลยี รวมถึงมูลค่าแบรนด์ระดับโลก ซึ่งล้วนสะท้อนถึงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแปลงงานวิจัยและองค์ความรู้ไปสู่การใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

🇹🇭 สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่ติดในกลุ่มผู้นำ แต่ก็มีศักยภาพด้านผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีในจุดที่สามารถต่อยอดได้ โดยจากผลการจัดอันดับ GII ในปัจจัยนี้ ประเทศไทยอยู่ใน ‘อันดับที่ 39’ จาก 133 ประเทศ โดยผลผลิตทางนวัตกรรมที่ประเทศไทยมีอันดับโดดเด่นคือ 
• การประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ตามถิ่นกำเนิด อยู่ในอันดับที่ 5 
• การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง อยู่ในอันดับที่ 8 
• อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก 

ภาพรวมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีรากฐานที่ดี และยังมีโอกาสอีกมากในการยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นในอนาคต กล่าวคือ ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นเหมือน “รายงานสุขภาพ” ของระบบนวัตกรรม โดยมี ผลผลิตทางนวัตกรรมเป็น “อาการที่แสดงออก” ของสุขภาพนั้น ระบบที่มีสุขภาพดี (ดัชนีสูง) ย่อมแสดงอาการ (ผลผลิต) ที่ดีตามไปด้วย

🖋 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับผลผลิตด้านความรู้และเทคโนโลยี NIA จึงได้มีกิจกรรมเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านการพัฒนา หลักสูตร IP for Business Innovation ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับธุรกิจนวัตกรรม รวมไปถึง โครงการ IP Management Clinic: IPMC 2025 ซึ่งมีเป้าหมายในการให้คำแนะนำรายบริษัท ในการจัดทำกลยุทธ์ทางด้านการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการผ่านทรัพย์สินทางปัญญา

⚙️ นอกจากนั้น NIA ยังเห็นความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม จึงมีการจัดกิจกรรมบ่มเพาะเร่งรัดการเติบโตโดยเฉพาะในธุรกิจ Deep Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่าน Acceleration Program ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Startup Thailand DeepTech 2025 เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม Climate X: Climate Tech Accelerator Program ที่มุ่งเน้นผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการจากวิสาหกิจเริ่มต้นสาขาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึง SPACE-F โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลก 

👍🏻 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานองค์ความรู้ หน่วยงานต่างๆ เห็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ พร้อมต่อยอดใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่ง NIA จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยง และสนับสนุนให้เกิดการสร้าง “ระบบนิเวศนวัตกรรม” ที่เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ “ชาตินวัตกรรม” ต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://bit.ly/4lGSyaq 
https://www.swiss.tech/news/switzerland-14-years-leading-global-innovation?utm_source=chatgpt.com
https://www.wipo.int/edocs/gii-ranking/2024/th.pdf
https://www.nia.or.th/GII-Series-IP
https://www.nia.or.th/event/detail/17913 
https://www.nia.or.th/2022/event/detail/17877
https://academy.nia.or.th/site/en/spacef/