สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปั้น "เยาวชนไทย" สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ

11 สิงหาคม 2565 8,438

ปั้น "เยาวชนไทย" สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

“เยาวชนคือผู้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต” เรียกได้ว่าเป็นคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันเยาวชนสากล” หรือ International Youth Day เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเห็นถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเยาวชน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับโลกแห่งอนาคตทั้งด้านสุขภาพ จิตใจ และสติปัญญา

 

จุดเริ่มต้น “วันเยาวชนสากล”

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เปิดเผยข้อมูลว่า มากกว่าครึ่งของเด็กอายุระหว่าง 6-13 ปี ขาดทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและความรู้ทางคณิตศาสตร์ อีกทั้งยังขาดการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ อันเป็นผลมาจากความยากจนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและประเด็นทางด้านสังคมยิ่งทำให้บทบาทของเยาวชนในฐานะที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคตมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นไปอีก ดังนั้น การสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทเยาวชนจึงถือเป็นหัวใจของวันเยาวชนสากลนี้

 

เรียนรู้…รับมือ “ช่องว่างระหว่างวัย”

ปัจจุบัน “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ Generation Gap เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมขั้นพื้นฐานอย่างครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ระดับชาติ และระดับโลก โดยช่องว่างระหว่างวัยเกิดมาจากการแบ่งลักษณะของคนตามช่วงปีเกิดและมีข้อสรุปออกมาว่า คนที่เกิดในช่วงปีหรือยุคเดียวมักจะมีลักษณะวิธีคิดและพฤติกรรมที่คล้ายกัน แต่จะมีความแตกต่างจากคนในอีกยุคหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการกระทบกระทั่งทางความคิดและพฤติกรรมบางประการ

หลายครั้งคำพูดที่ว่า “เด็กจะไปรู้อะไร” กับ “ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจหรอก” กลายเป็นการสะท้อนภาพของคนสองรุ่นที่มีความแตกต่างด้านมุมมองความคิดที่มีต่อกันและกันอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของครอบครัวที่ลูกมักจะตั้งคำถามกับการจำกัดระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต ภาพเด็กนักเรียนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ครูสอนหลายครั้งถูกมองเป็นความก้าวร้าวและไม่เชื่อฟัง หรือแม้แต่ในสังคมการทำงานที่หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรับนักศึกษาจบใหม่ (Millennial) เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานอาวุโส (Baby Boomer) การตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ที่ยึดถือกันมายาวนานอาจถูกมองว่าไม่ให้ความเคารพจนเกิดความคับข้องใจ ขณะที่อีกฝั่งเพียงแค่ต้องการคำตอบเพื่อนำไปต่อยอดสู่สิ่งที่ดีกว่า เหตุการณ์เล็กน้อยเหล่านี้อาจนำไปสู่การขาดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนในการเรียนรู้และเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

 

โอกาสแห่งการเพาะเมล็ดพันธุ์สู่การเติบโตในโลกอนาคต

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มองเห็นคุณค่าของการส่งต่อความรู้และความสำคัญในการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างช่วงวัยเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จึงริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Founder Apprentice ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ให้เยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่และเข้าสู่โลกของการทำงานได้เตรียมความพร้อมผ่านการฝึกฝนลงมือทำจริงร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในเครือข่าย โดยเยาวชนจะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นและแนวทางการทำงานในช่วงระยะเวลาการทำงานจริง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จะได้เห็นมุมมอง วิธีคิด และความคิดเห็นแปลกใหม่ สร้างสรรค์ ซึ่งอาจนำไปสู่การริเริ่มโครงการหรือคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและสังคม โครงการ Founder Apprentice นี้ จึงเสมือนเป็นพื้นที่ให้เยาวชนที่มีความฝันหรือความต้องการประกอบธุรกิจได้มีโอกาสเข้ามาพัฒนาศักยภาพหรือเข้าใจวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ ได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝน และเตรียมความพร้อมที่จะต่อยอดความฝันสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับสังคม

 

“เยาวชนในวันนี้คือผู้นำในอนาคต” มือของพวกเขาคือสิ่งที่จะกำหนดทิศทางของสังคมต่อจากนี้ การจะเดินทางไปในเส้นทางเดียวกันได้นั้น การทำความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของชุดความคิด และการเคารพซึ่งกันและกันจะช่วยเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชนให้การแสดงศักยภาพและพัฒนาทักษะที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
ธิตยา ขุขันธิน
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)