สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เรื่องเล่า...ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม กรณีศึกษาชุมชนศรีนครน่าน จังหวัดน่าน

26 พฤษภาคม 2566 41,432

“เมืองแห่งการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ และการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง”

 

เรื่องเล่า...ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม

 

เมื่อเราพูดถึงจังหวัดน่าน ภาพแรกที่คิดของใครหลาย ๆ คน น่าจะเป็นภาพเมืองแห่งการท่องเที่ยวชุมชนผู้คนใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟในภูมิภาคที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีกลุ่มที่ขับเคลื่อนในการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์ศิลปะล้านนา แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และการสักการะไหว้พระขอพร รวมไปถึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่โดดเด่นและเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น เช่น งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนโลก เทศกาลดอกชมพูภูคาบาน เส้นทางธรรมชาติป่าชุมชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพจำที่เรานึกถึงเมื่อเอ่ยถึงจังหวัดน่าน นอกจากนี้ เนื่องจากจังหวัดน่านมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษ์ของชุมชนจังหวัดน่าน รวมไปถึงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา 3 ส่วน มีพื้นที่ราบ 1 ส่วน มีความหนาแน่นของป่าและภูเขา พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 700 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งเหมาะสำหรับการเพาะปลูกกาแฟ ทำให้จังหวัดน่านถือได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี (ที่มา: กรมป่าไม้)

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ให้เกิดการนำนวัตกรรมไปแก้ไขตามประเด็นปัญหาที่ชุมชนในพื้นที่ต้องการ โดยการคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากหน่วยงานที่มีพันธกิจโดยตรงที่ต้องการจะผลักดันเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ คนในพื้นที่มีความมุ่งมั่นที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนเพื่อมองหาทางเลือกใหม่ที่สามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรในพื้นที่ และแนวทางใหม่ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีมากกว่าเดิม โดยหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม คือ ชุมชนศรีนครน่าน จังหวัดน่าน ซึ่ง NIA ได้เป็นส่วนหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดโมเดลต้นแบบหมู่บ้านที่สามารถนำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ที่เหมาะสมกับบริบทปัญหาของพื้นที่ในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ โดยตัวอย่างโครงการที่เกิดจากการริเริ่มของกลุ่มชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่านที่มีความต้องการจะใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ตนเอง มีดังนี้

 

ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี (Cultural and traditional tourism)

ชาวบ้านในท้องถิ่น ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในสุนทรียศิลป์ เพื่อศึกษาความเชื่อ การยอมรับนับถือ การเคารพ พิธีกรรม และได้รับความรู้ความเข้าใจต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรม ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน สร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกแบบแนวทางการดำเนินงานเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวจากฐานทรัพยากรในพื้นที่ โดยในชุมชนเป้าหมายมีพื้นที่ป่าชุมชน (Community Forest) ที่เป็นกลไกสำคัญให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรที่เป็นผลผลิตจากป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน ชุมชนแห่งอัตลักษณ์ด้วยวัฒนธรรมและภูมิปัญญา งานหัตถกรรมการปักผ้าเมี่ยน การทำเครื่องเงิน อาหารพื้นถิ่นอิ้วเมี่ยน ด้วเหตุนี้ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จึงได้ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านภูเวียง ตำบลบ่อ จังหวัดน่าน ที่มีผู้รับประโยชน์มากกว่า 284 คน โดยการออกแบบแพลตฟอร์มเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและป่าชุมชนด้วยเทคโนโลยี AR ร่วมกับระบบจีพีเอส (GPS-based AR) เป็นเครื่องมือนำทางเส้นทางท่องเที่ยวทำให้สามารถเพิ่มการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ และความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่

 

ด้านการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงวิถีน่าน

ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 วิสาหกิจชุมชนวิถีเกษตรตำบลเมืองจัง ได้ร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และบริษัท ไดน่าแมค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในการพัฒนาโมเดลนำร่องในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง ภายหลังจากการขยายผลนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทปัญหาของพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีน้ำพอเพียงสำหรับการทำเกษตรระบบน้ำผันสู่ที่สูง และเกิดการปรับเปลี่ยนการปลูกไม้ผลบนพื้นที่ทำการเกษตร เช่น มะม่วง ลำไย เป็นต้น ทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต่อมาในปี 2565 ได้มีการขยายผลต่อยอดเพิ่มเติมโดยใช้นวัตกรรมพร้อมใช้จาก บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างระบบกระจายน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยออกแบบให้สามารถกระจายน้ำบนพื้นที่สูงได้ พร้อมทั้งจัดทำระบบบ่อพวงสันเขาสำหรับการเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และสามารถทดแทนการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ทำให้ลดต้นทุนด้านพลังงานและมีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงได้ โดยกลุ่มชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับการประโยชน์จากการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,340 คน

โดยภาพรวม การดำเนินงานโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมในปี 2565 นั้น มีโครงการของจังหวัดน่านที่ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยนอกจากตัวอย่างทั้งสองโครงการที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีโครงการด้านการท่องเที่ยวชุมชนและด้านเกษตรกรรมยั่งยืนอีก ดังนี้

  1. ปั่น ปัน รักษ์: แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนระบบสะสมไมล์โดยจักรยาน
  2. ชุมชนโปรตีนสร้างสรรค์: นวัตกรรมสกัดโปรตีนเข้มข้นจากถั่วมะแฮะ
  3. ระบบเพาะเลี้ยงเห็ดเมืองหนาวมูลค่าสูงสำหรับชุมชน
  4. ระบบดิจิทัลเพื่อรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) สำหรับชุมชน
  5. ระบบการเลี้ยงหมูดำหลุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแบบครบวงจร และ
  6. แพลตฟอร์มตลาดวีแกนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน 

 

ส่งผลให้กลุ่มชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับประโยชน์จำนวน 10,266 คน คิดเป็น ร้อยละ 11.7 ของจำนวนประชากรในพื้นที่เป้าหมาย (85,706 คน) แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของโมเดลการขยายผลในพื้นที่เป้าหมายเดิมที่มีศักยภาพว่าสามารถดำเนินการต่อยอดได้อย่างมีคุณภาพ เกิดการขยายพื้นที่จนทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์มากขึ้น และสามารถค้นพบกลุ่มชุมชนที่มีความต้องการในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้วยนวัตกรรมมากกว่าเดิม รวมไปถึงโจทย์ปัญหาในพื้นที่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

 

จะเห็นได้ว่า NIA ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนภาครัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ให้กระจายเข้าสู่พื้นที่ในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายเป็นอันดับแรก และเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมประสานให้ชุมชนกับเจ้าของผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนเป็นคนตัดสินใจว่า ผลงานนนวัตกรรมพร้อมใช้ใดที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่หรือปัญหาของตนเอง โดยวิธีการนี้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการทำงานทั้งหมด และเป็นกลไกสำคัญในการนำงานวิจัยที่มีผลการดำเนินงานสำเร็จแล้วไปขยายผลและต่อยอดในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีโจทย์ปัญหาใกล้เคียงกัน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว NIA หวังว่าโมเดลความสำเร็จนี้จะสามารถผลักดันเข้าสู่แผนงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเกิดการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด เพื่อช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมในลำดับต่อไป

 

บทความโดย
วรรณิตา ทองพัด (ขิม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)