สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย…ดินแดนที่เป็นมากกว่าเศรษฐีน้ำมัน
แม้จะมีหลักฐานว่ามนุษย์อาจเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับตั้งแต่ 15,000 – 20,000 ปีก่อนหน้านี้ แต่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียหรือที่คนไทยมักจะเรียกติดปากว่า “ซาอุฯ” เพิ่งถูกรวมประเทศ โดยกษัตริย์อับดุลอะซีส อัล ซาอูด (Abdulaziz Al Saud) เมื่อปี พ.ศ. 2475 หรือประมาณ 90 ปีที่แล้ว ผ่านการรวมชนเผ่า รวมไปถึงอาณาจักรต่าง ๆ ในคาบสมุทรอาหรับที่ยึดถือคำสอนของศาสนาอิสลามและใช้ภาษาอาราหรับในการสื่อสารและเผยแพร่คำสอนของศาสนาเข้าด้วยกัน ทำให้รากเหง้าของประเทศซาอุฯ มีความผูกพันกับศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก และในปัจจุบัน ซาอุฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำมันของโลก โดยมี Saudi Aramco เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ และเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่สร้างกำไรมากที่สุดในโลกในปี 2021 (49,287 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.68 ล้านล้านบาท)
นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษที่ประเทศไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้กลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีต่อกันหลังจากที่เกิดเหตุโจรกรรมเพชรของราชวงศ์กลับมาที่ประเทศไทย การฆาตกรรมนักการทูตระดับสูงและนักธุรกิจของซาอุดีอาระเบียในประเทศไทยที่ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้ รวมไปถึงเพชรของกลางที่ทางการไทยส่งคืนซาอุดีอาระเบียส่วนหนึ่งเป็นของปลอม ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นพลวัตสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์นี้นอกจากจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงปี พ.ศ. 2558 แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้เกิดจากการที่ซาอุดีอาระเบียได้มีการทำยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ประเทศใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2559 หรือ Saudi Vision 2030 ที่มีเนื้อหาสาระครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และวางแผนการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดให้ข้ามผ่านการเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจอาศัยรายได้หลักจากน้ำมันเพียงอย่างเดียว ประกอบกับการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของนักการทูตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาลทั้งสองประเทศนั่นเอง
วิสัยทัศน์ซาอุฯ 15 ปี (พ.ศ. 2559 - 2573) หรือ Saudi Vision 2030 เป็นยุทธศาสตร์ที่ดึงความแข็งแกร่งของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทั้งด้านศาสนา การลงทุนเพื่อก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่เชื่อม 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยวิสัยทัศน์นี้จะมีรายละเอียดครอบคลุม 3 ประเด็นการพัฒนาหลัก ได้แก่
จากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Startup Nations Ministerial และ Startup Nations Summit ที่กรุงริยาดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถหรือเดินทางออกจากบ้านคนเดียวได้ การเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา หรือการมองถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น เป็นต้น
หน่วยงานของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนและการพัฒนาสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี คือ Monsha’at หรือ Small and Medium Enterprises General Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2564 Monsha’at รายงานว่ามีการให้เงินลงทุนกับสตาร์ทอัพมากถึง 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) ซึ่งกว่าร้อยละ 65 เป็นเงินสนับสนุนจาก Monsha’at ที่เหลือจะเป็นเงินจากภาคเอกชน VC (venture capital) และ CVC (corporate venture capital) โดยทาง Monsha’at ได้มีการวางระบบนิเวศนวัตกรรมไว้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบนวัตกรรมแบบเปิด การทำโครงการ University Startup เพื่อส่งเสริมให้เกิด สตาร์ทอัพจากนักศึกษาหรือคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย หรือการทำเครือข่าย Saudi Incubators & Accelerators Network เป็นต้น
นอกจากนี้ ประชาชนในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ยังมีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มาจากประเทศไทยค่อนข้างมาก และจากที่ได้ไปเดินสำรวจร้านโชว์ห่วยที่มีคนซาอุฯ เป็นเจ้าของร้านใกล้ ๆ บริเวณที่พัก ยังพบสินค้าจากประเทศไทยหลายรายการวางจำหน่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกะทิ เครื่องดื่มผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวยี่ห้อดัง เครื่องแกงไทยสำเร็จรูปหลากหลายยี่ห้อ หรือจากที่มีโอกาสได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ของซาอุฯ หลายท่านก็จะมีความชื่นชอบบริการนวดแผนไทยมาก ถึงขนาดที่ว่าคนขับแท็กซี่ที่เคยได้มีโอกาสใช้บริการ ยังอยากลงทุนเปิดร้านนวดแผนไทยขึ้นเป็นของตัวเอง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่านโยบายที่จะผลักดันแรงงานไทยให้เข้าไปประกอบอาชีพที่ราชอาณาจักรซาอุฯ เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสหลายอย่าง ประเทศไทยควรที่จะส่งเสริมพลังอำนาจอ่อน (soft power) ในด้านอื่น รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักลงทุน หรือสตาร์ทอัพระหว่างสองประเทศ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศนวัตกรรมไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พร้อมสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ระหว่างภูมิภาค MENA (Middle East and North Africa) และประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น TravelTech AgTech FoodTech หรือ MedTech เป็นต้น
แหล่งที่มาข้อมูล
ขอบคุณภาพจาก
บทความโดย
กฤษภาส กาญจนเมฆานันต์ (คริส)
นักกลยุทธ์นวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)