สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“นวัตกรรมการแพทย์” โอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

บทความ 7 พฤษภาคม 2565 6,398

“นวัตกรรมการแพทย์” โอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

กาชาดกำเนิดขึ้นเนื่องมาจากความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ ลัทธิศาสนา ซึ่งการช่วยเหลือกระทำทั้งในประเทศของตนเอง และต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและบรรเทาทุกข์ทรมานของมนุษย์ทุกหนแห่ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุน และส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ รวมถึงการส่งเสริมสันติภาพ ระหว่างประชากรทั้งมวล

 

ความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ (Health equity) เป็นสิ่งที่ประชากรโลกทุกคนควรจะได้รับด้วยความเป็นธรรม เท่าเทียม ปราศจากความแตกต่าง ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ สังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ศาสนา หรือถิ่นที่อยู่อาศัย โดยในประเทศไทยหลังจากที่มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนสิทธิในการเข้ารับการบริการในกรณีอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (Universal Coverage for Emergency Patient : โครงการ UCEP) ที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้เกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามการดูแลประชาชนคนไทยให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมนั้นในทางปฏิบัติทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ เช่น การกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ งบประมาณสาธารณสุขของประเทศไทย การกำกับดูแลค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ

 

“นวัตกรรม” จึงเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีความเสี่ยงที่มีความรุนแรงสูงกว่าวัยหนุ่มสาว จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์โดยฝีมือคนไทยขึ้นมากมาย เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงแล้ว ยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน เนื่องจากมีความต้องการทั่วโลก

 

สำหรับตัวอย่างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ฝีมือคนไทยที่ถูกสร้างสรรค์มาเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. ระบบการติดตาม เช่น Agnos: ระบบดูแลผู้ป่วยโดยชุมชน เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อหรือที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้กรอกข้อมูลที่จำเป็นต่อการประเมินของทีมแพทย์อาสา เช่น โรคประจำตัว อาการไอ เจ็บคอ หายใจ เหนื่อยหอบ เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของอาการตามเกณฑ์ผ่านระบบ 
  2. ระบบสุขภาพทางไกล ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเดินทางมายังโรงพยาบาล เช่น ระบบติดตามการใช้ยาและแนะนำการใช้ยาที่บ้านสำหรับผู้ป่วย ระบบการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย ระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับคัดกรองและติดตามโรคติดต่อ และระบบคัดกรองฟิล์มเอกซ์เรย์ปอดรองรับการอ่านภาพเอกซ์เรย์ 
  3. การเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ระบบ QueQ สำหรับแก้ปัญหาความหนาแน่นของการให้บริการฉีดวัคซีนและการตรวจหาเชื้อ และ 
  4. การบริหารจัดการอุปทาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็น เช่น ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แบบรวดเร็ว (ATK)  หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ที่สามารถป้องกันได้ทั้งการรับเชื้อโควิด-19 และ ห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้สำหรับผู้ป่วยหนักโรคโควิด-19

 

นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ยังได้มีโอกาสร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด สนับสนุนและพัฒนาเพื่อสร้าง “เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง (High flow Nasal Cannula - HFNC)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่แพทย์ใช้รักษาชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีปัญหาในการหายใจ โดยสามารถบำบัดด้วยการให้ออกซิเจนได้มากกว่า ผ่านสายช่วยหายใจทางช่องจมูก ซึ่งปกติเครื่อง HFNC มีการใช้งานอยู่แล้วในสถานพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจที่ผิดปกติ แต่ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยวิกฤตและกึ่งวิกฤตเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีการระดมจัดซื้อทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาล หรือการขอรับบริจาคจากหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีจำนวนจำกัดและมีราคาที่สูง 

 

เครื่อง HFNC ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยนี้ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ด้วยประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมของบริษัทฯ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำให้ได้สร้างต้นแบบที่ผ่านการทดสอบ และได้รับอนุญาตจากทางสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถผลิตและใช้งานได้ภายใต้ สถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับการควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และมีแผนดำเนินการขยายผล โครงการเพื่อกระจายเครื่อง HFNC ไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อม และอยู่ภายใต้ประกาศข้อกำหนดของ อย. บริษัทฯ และสภากาชาดไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ด้วยเครื่อง HFNC ช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาผู้ผลิตจากต่างประเทศ โดยโครงการที่ขอรับทุนสนับสนุนจาก สนช. นี้จะเป็นการดำเนินการเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงเครื่อง HFNC ไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณสาธารณะสุขของประเทศไทย ทำให้ประชาชนคนไทยให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

 

ที่มา

 

บทความโดย
อุกฤช กิจศิริเจริญชัย (ตั้ม)
ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ