สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ดิจิทัลหยวน: ธุรกรรมการเงินแห่งโลกอนาคต

บทความ 31 มีนาคม 2564 5,934

ดิจิทัลหยวน: ธุรกรรมการเงินแห่งโลกอนาคต

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินกลายเป็นเรื่องง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการชำระค่าสินค้าที่เพียงแค่สแกน QR code สามารถทำได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ จนบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวยามออกไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด หรือ cashless payment กลายเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพรหลายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ


“cashless payment” อีกช่องทางหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ก็คือ การใช้สกุลเงินดิจิทัล (digital currency) ในการชำระเงิน โดยสกุลเงินดิจิทัลนั้นจะอยู่บนอินเตอร์เน็ต และมีการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์เท่านั้น สกุลเงินดิจิทัลที่ทุกคนน่าจะรู้จักคือ “Bitcoin” แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มาก เสมือนกับการทำนวัตกรรมอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้งานจริง แต่กฎหมายที่จะนำมาใช้กำกับดูแลนวัตกรรมดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถพัฒนาได้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งก็เช่นเดียวกับสกุลเงินดิจิทัล


สาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีกฎหมายควบคุม เช่น ในปี 2017 จีนประสบปัญหาด้านการเงินและตลาดเนื่องจากการเปิดการลงทุนแบบ ICO (Initial coin offerings) โดยไม่มีการควบคุม ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการเงินในจีนเป็นอย่างมาก


จากเหตุการณ์ดังกล่าวและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของสกุลเงินดิจิทัล จีนจึงได้อออกเงินดิจิทัลหยวน ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ The People’s Bank of China (PBC) ที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีนขึ้น แต่ยังไม่ได้นำมาใช้จริงในระดับสากล และยังไม่มีมูลค่าทางการเงินในตลาด เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการพัฒนากรอบกฎหมายเพื่อกำกับดูแล สำหรับวัตถุประสงค์ของการออกเงินดิจิทัลหยวนสามารถสรุปได้ดังนี้

  • เพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าของการพัฒนาเงินตราสากลที่ตอนนี้ได้พัฒนาถึงสกุลเงินดิจิทัลและปกป้องสิทธิของสกุลเงินหยวนจากสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
  • เพื่อความสะดวกสบายในการชำระเงินมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
  • เพื่อรับประกันการจัดตั้งระบบการเงินในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลใหม่และเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ ในการออกสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกฎหมาย



การใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากง่ายต่อการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน สามารถดำเนินการได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต และยังตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในช่วงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลมีฟังก์ชั่นตามวิวัฒนาการของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี อีกทั้งมีความโปร่งใสในการทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น เนื่องจากมีการบันทึกข้อมูลอยู่ในระบบ เครือข่าย หรือ อินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ (การฟอกเงิน การเลี่ยงภาษี การจัดหาเงินสำหรับผู้ก่อการร้ายจึงเป็นไปได้ยาก) แต่การใช้สกุลเงินดิจิทัลมีข้อเสียคือ กฎหมายยังไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือยังไม่มีกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลในการใช้สกุลเงินดิจิทัลจึงอาจเกิดการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลได้ง่ายและจำนวนมากขึ้น เช่น การโอนเงินดิจิทัลเพื่อใช้ในการลงทุนที่ได้รับผลประโยชน์สูง


สกุลเงินดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสียเพราะฉะนั้นในการที่จะนำเงินดิจิทัลหยวนมาใช้งานจริง จีนจึงต้องดำเนินโครงการนำร่องจำนวนมาก เช่น การทดลองใช้ดิจิทัลหยวนสำหรับชำระเงินในเมืองที่ได้รับเลือกตั้งแต่ปี 2020 และ โครงการ Inthanon-LionRock ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) เพื่อศึกษาการใช้เงินดิจิทัลหยวนชำระเงินในตลาดการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (cross-border) ซึ่งจะอยู่ในโครงการอินทนนท์ระยะที่ 3 โดยมุ่งตรวจสอบฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ว่าสามารถใช้งานได้จริงอย่างถูกต้องทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือไม่ รวมถึงออกกฎหมายให้ครอบคลุมการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลในด้านต่างๆ ป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่เสี่ยงต่อการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือการหลอกลวง รวมถึงการพัฒนาระบบและบุคลากรในการบริหารจัดการ และกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง


สกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีการนำออกมาใช้แล้ว เช่น Bitcoin ที่ทำให้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์สะดวกและรวดเร็ว หรือเงินดิจิทัลหยวนที่กำลังอยู่ระว่างการพัฒนาซึ่งจะเป็นตัวอย่างแรกของสกุลเงินดิจิทัลระดับประเทศในตลาดโลก แต่ในบางมิติ “นวัตกรรม” ก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้านคือ มีทั้งประโยชน์และโทษ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการใช้นวัตกรรมในทางที่ผิด การพัฒนานวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นด้านใดมักจะเกิดขึ้นจากโจทย์ปัญหาที่ต้องการแก้ไข และถูกพัฒนาขึ้นเป็นคำตอบ (Solution) ของปัญหาดังกล่าว แต่จะไม่สามารถนำคำตอบนั้นมาใช้ได้ทันที เนื่องจากเรายังไม่ทราบว่าคำตอบที่เราพัฒนาขึ้นนั้นจะตอบโจทย์ได้ตรงหรือไม่ หรือผู้ที่จะนำคำตอบนั้นมึความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องรึเปล่า จึงต้องมีการทดลองใช้ในวงแคบ หรือที่เรียกกันว่า sandbox เพื่อจะสังเกตการณ์ผลกระทบหรือปัญหาในมิติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และพิจารณาการกำกับดูแลการใช้คำตอบนั้นในสังคม เช่น การตั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้คือ สิ่งที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการอยู่กับเงินดิจิทัลหยวน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.financemagnates.com/cryptocurrency/coins/china-tests-its-digital-yuan-on-more-platforms/

https://www.paymentsjournal.com/cross-border-digital-yuan-payment-trials-underway/

https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217817.shtml

https://cryptonews.com/news/warnings-as-crypto-digital-yuan-fraudsters-run-wild-in-china-9542.htm


 โดย     นางสาวพิชชารีย์ กีรติธากุล (เบลล์)
           นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
           สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)