สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จริงหรือไม่? ลอยกระทงตัวร้ายทำลาย “น้ำ”

19 พฤศจิกายน 2567 771

จริงหรือไม่? ลอยกระทงตัวร้ายทำลาย "น้ำ"


🎇 เทศกาลลอยกระทงเวียนมาบรรจบอีกครั้ง แต่ปัจจุบันหลายคนเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบจากกิจกรรมในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ที่อาจสร้างขยะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก

💧 ประเพณีลอยกระทง เป็นกิจกรรมเพื่อขอบคุณและขอขมาพระแม่คงคา ดังนั้นเมื่อวัตถุประสงค์ของประเพณีสวนทางกับกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างขยะ จึงเริ่มมีการคิดหาแนวทางในการลอยกระทงอย่างมีรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การลอยกระทงผ่านระบบดิจิทัล การผลิตวัสดุประดิษฐ์กระทงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการจัดการขยะในแหล่งน้ำรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะช่วยสืบสานประเพณีนี้ให้ดำรงคงอยู่ต่อไปได้

🚨 ทว่า หนึ่งความจริงที่ควรตระหนักไว้ คือประเพณีลอยกระทงนี้ถูกจัดขึ้นแค่เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่ขยะในแหล่งน้ำส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นหลัก โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้เผยตัวเลขปริมาณขยะทะเลลอยน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนบนผ่าน 5 แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางตะบูน ในปี 2566 พบขยะจำนวนมากถึง 83,958,642 ชิ้น หรือ 882 ตัน ซึ่งชนิดของขยะที่พบมากที่สุดคือ ขยะพลาสติกประเภทหีบห่อบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ได้แก่ ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ถุงแกง ถุงร้อน หนังยาง และถุงพลาสติกบาง

😷 นอกจากขยะในแหล่งน้ำจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสีย ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาไมโครพลาสติก ที่เกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ที่ปะปนมาในน้ำหรือในสัตว์ทะเล ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มากกว่าคนทั่วไป ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพานวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขในมิติต่างๆ 

ซึ่ง NIA จะพาไปส่อง 3 นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียจากเหล่าสตาร์ทอัพไทย จะมีอะไรน่าสนใจบ้างไปดูกัน!

🧫 ระบบบำบัดน้ำเสียวงจรไฟฟ้าชีวภาพ BioCircuit
ผลงานจากบริษัท อินโน กรีน เทค จำกัด ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยี Microbial Fuel Cell ซึ่งใช้เทคนิคชีวเคมีไฟฟ้า ในการนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนสารอินทรีย์ในน้ำให้กลายเป็นอิเล็กตรอน ที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าฟรีระหว่างกระบวนการบำบัด นอกจากนั้นอิเล็กตรอนที่ได้ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่อในการเปลี่ยนรูปสารอนินทรีย์ที่ละลายน้ำ ให้กลายเป็นของแข็งหรือแก๊สที่แยกออกได้ง่าย จุดเด่นของนวัตกรรมนี้อยู่ที่การช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำเสียลงได้ 60% และใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยลงกว่าแบบอื่นๆ ถึง 65% 

💦 นวัตกรรมเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค
ปัญหาใหญ่ของเรือนำเที่ยวในประเทศไทย คือการต้องสำรองน้ำจืดไปไว้ใช้งานขณะเดินทาง แต่ถึงแม้ว่าจะสำรองไว้แล้วบางครั้งก็ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้ต้องเสี่ยงกับการเจอน้ำคุณภาพต่ำที่ไม่ได้มาตรฐาน บริษัท ออริจินอล พีพี ซันเซ็ท จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคใต้ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงผลิตนวัตกรรมเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดสำหรับการใช้งาน ด้วยวิธี Reverse Osmosis ขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวได้ใช้งาน และความสำเร็จของนวัตกรรมนี้ไม่ได้มีเพียงช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่จำเป็นต้องขุดน้ำบาดาลมาใช้ 

👜 นวัตกรรมนำวัสดุเหลือทิ้ง มาแปรรูปเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โครงการ LANTARAY บนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคใต้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ต้องการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ โดยมีแนวคิดในการนำวัสดุเหลือใช้จากการประมง เช่น ทุ่นแหอวนเก่า รวมถึงขยะพลาสติกจากชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาผ่านกระบวนการ Upcycling ผสมผสานกับงานหัตถกรรมท้องถิ่น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในธีมโลกใต้ทะเลที่นำเสนอออกมาทั้งในรูปแบบสินค้าแฟชั่น ของขวัญ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการจัดการงานและทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะพลาสติก และวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นจากการทำประมง แต่ยังช่วยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนในพื้นที่ และสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชมอย่างยั่งยืนอีกด้วย 

👍 การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ต่อยอด คิดค้นนวัตกรรมช่วยแก้ไขปัญหา โดยนอกจากเรื่องน้ำ โลกของเรายังมีโจทย์สิ่งแวดล้อมอีกสารพัดอย่างที่รอการแก้ไข NIA พร้อมให้การสนับสนุนต่อยอดการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากนี้จะมีโครงการต่างๆ มาเพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย ส่งเสริมศักยภาพนวัตกรไทยอีกมากมายภายใต้บทบาท “Focal Conductor” หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โดยจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นบ้าง สามารถติดตามข้อมูลจากเพจ NIA ได้เลย!

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19792 
https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2024/06/pcdnew-2024-06-21_06-42-54_474054.pdf
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1143368#google_vignette 
https://www.youtube.com/watch?v=7v-v7CZCXj8 
https://award.nia.or.th/th/content/category/detail/id/70/iid/707 
https://www.youtube.com/watch?v=LQzqLSOkR44 
https://www.youtube.com/watch?v=OgqlTt_q1-8
https://social.nia.or.th/2024/open0053/