สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

งานแถลงข่าวผลงานนวัตกรรมและงานสัมมนา “เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”

News 19 ธันวาคม 2562 2,543

งานแถลงข่าวผลงานนวัตกรรมและงานสัมมนา “เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”


NIA ร่วมกับ บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวผลงานนวัตกรรมและงานสัมมนา “เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดการพิมพ์ 3 มิติ ไปสู่โอกาสทางการสร้างธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ไทยสู่สากล

ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาโรคของผู้ป่วย การพิมพ์ 3 มิติ นั้นจะเป็นทางเลือกในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในวงการแพทย์นำมาใช้อาทิเช่น การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษา ไปจนถึง การพิมพ์อวัยวะเทียมเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงการนำไปใช้งานได้อีกอย่างหลากหลาย

NIA เป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน โดยหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงระบบนวัตกรรมของประเทศ ในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม และการยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยบริษัท หาญฯ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ที่เข้าอบรมในหลักสูตร Total innovation management training program ของ NIA Academy โดยมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะและพัฒนาแนวความคิดนวัตกรรม และบ่มเพาะผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เป็นธุรกิจนวัตกรรม จนเกิดแนวคิดรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมและพัฒนาแนวทางที่ชัดเจนทั้งในด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ การเงิน และศักยภาพขอผู้ประกอบการ ทำให้ได้รับทุน open innovation สนับสนุนจาก สนช. ในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมทางการแพทย์จากการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”

การพิมพ์ 3 มิติ เป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้ SMEs หรือ Startup รวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมการแพทย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ที่ต้องประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนการพัฒนาการรักษา การนำไปใช้งาน การประกันชีวภาพ เป็นต้น ที่จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกท่าน ที่จะมาร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ โดย สนช. จะมีส่วนในการสนับสนุนได้ ภายใต้ 3G คือ Groom Grant Growth ตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกรรมทางแพทย์ในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” (Yothi Medical Innovation District – YMID) เพื่อสร้างแนวคิดที่สร้างสรรค์ร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ บนถนนโยธี ทำให้เกิดความคิดในการเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และการส่งเสริมให้การสนับสนุนทุนนวัตกรรมทั้งด้าน Open Innovation, Social Innovationและ Thematic และการส่งเสริมให้เกิดการแพร่กระจายนวัตกรรมออกไปทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มมีร่วมมือกับกันพันธมิตรต่างๆ เพื่อมุ่งสร้างให้เกิดการบริการพิมพ์สามมิติทางการแพทย์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยราคาที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และการศึกษาทางการแพทย์ โดยมีการผลิตแบบจำลองอวัยวะให้กับศูนย์ศัลยกรรมชั้นนำของประเทศเพื่อทดสอบในการนำไปรักษาผู้ป่วยจริง โดยชี้วัดความสำเร็จจากประสิทธิภาพการวางแผนการรักษา และขณะปฏิบัติการรักษาจริง ตลอดจนการใช้เป็นสื่อในการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนต่อไป ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการยกระดับความสามารถทางการแพทย์ไทยไปอีกขั้นหนึ่งให้มีความสามารถใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

การสร้างแบบจำลองอวัยวะสามมิตินับเป็นนวัตกรรมที่สนับสนุนแพทย์ในการแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติหรือรอยโรคได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาที่มีข้อจำกัดในการสร้างภาพ CT Scan / MRI เช่น การผ่าตัดเปิดหัวใจเด็กแรกเกิด เนื่องจากมีขนาดหัวใจเล็ก ทำให้เห็นภาพจาก MRI/CT ไม่ชัดเจน และเทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นการทำให้เห็นภาพ 2 มิติ ที่แพทย์ต้องจินตนาการถึงมิติที่ 3 คือในมิติของความลึก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี 3D เข้ามาช่วยวางแผนในการรักษานี้ทำให้เกิดการรักษาที่ประสิทธิภาพ แม่นยำ และลดเวลาในการผ่าตัดลงได้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษา อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งในต่างประเทศพบว่าการสร้างแบบจำลองกะโหลกศีรษะช่วยลดเวลาในการผ่าตัดได้ถึง 3-4 ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่าจากการลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งห้องผ่าตัดและบุคลากรราว 100,000 บาทต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการสร้างแบบจำลองอวัยวะระดับหลักพันถึงหมื่นบาท

ดังนั้น การสร้างให้เกิดการบริการทางพาณิชย์ด้านการพิมพ์สามมิติในประเทศไทยครั้งแรก ที่ระบบบริการทางการแพทย์ของไทยสามารถเข้าถึงในราคาที่เหมาะสม และช่วยยกระดับความสามารถของการแพทย์ไทยไปอีกขั้น ให้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับราคาที่เข้าถึงได้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารได้ที่ fb.me/NIAAcademyTH