สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

News 19 พฤศจิกายน 2565 1,554

NIA ร่วมสนับสนุนดำเนินงานภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ปั้นให้เกิดสตาร์ทอัพสายดีพเทค

 
วันที่ 11 เดือน 11 พ.ศ. 2565 เป็นหมุดหมายความร่วมมือต่อเนื่องของ ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio Consortium จากปี 2564 ที่ผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย จำนวน 17 หน่วยงาน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “Thailand Synthetic BioEconomy Outlook and Key Milestones” และในปี 2565 ขยายเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 หน่วยงาน พร้อมประกาศร่างแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ในระยะเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573) สอดรับตามรูปแบบเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy Model) ของรัฐบาล
 
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญของ SynBio Consortium ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในภูมิภาค ที่มีการเติบโตของตลาดระดับโลกในอัตราที่สูงมาก โดย SynBioBeta ได้รายงานว่า ปี 2564 มีสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาสังเคราะห์ได้รับการระดมทุน 18 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ. หรือ 630 พันล้านบาท ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายเช่น เกษตร อาหาร และการแพทย์ โดย NIA มีแนวทางสำคัญในการพัฒนาให้เกิดสตาร์ทอัพเทคโนโลเชิงลึก หรือ DeepTech Startup ใน 6 กลุ่ม ได้แก่ เกษตร อาหาร การแพทย์ อวกาศ ป้องกันประเทศ และ ARI-Tech ผ่านการบ่มเพาะและเร่งสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม การให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม และการส่งเสริมให้เกิดการเติบโต
 
โดยในปีนี้ ได้มีการเปิดตัวสมาชิกภาคีฯ ใหม่อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBio) บริษัท โกลบอล อาร์แอนดี จำกัด และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และประกาศร่างแผนที่นําทางการพัฒนาระบบนิเวศชีววิทยาสังเคราะห์ของปี พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2573 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
 
  1.  ระยะสั้น (1–3 ปี) เพื่อวางรากฐานที่เข้มแข็ง สร้างขีดความสามารถด้านการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  2.  ระยะกลาง (3–5 ปี) เพื่อพัฒนาและขยายขนาดกระบวนการผลิตจากห้องปฏิบัติการ สู่โรงงานต้นแบบ พร้อมสร้างมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์
  3.  ระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) มุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น บนฐานของชีววิทยาสังเคราะห์ จนนําไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve)
 
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ SynBio for SDGs: How to link Global SynBio with Thai Economy เพื่อแชร์ประสบการณ์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ผ่านการสร้างเครือข่ายจากสิงคโปร์ (Singapore Consortium for Synthetic Biology) เกาหลีใต้ (Synthetic Biology Research Center Korea Research Institute of Bioscience and Biotechnology) เยอรมัน (German Association for Synthetic Biology) และ ประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นแนวทางดำเนินงานร่วมกันคือการที่ภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยขั้นพื้นฐาน (basic research) และสร้างกลไกสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะต้องมีงาน วิจัยพื้นฐานสนับสนุนให้มีการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลาโดยภาครัฐ ทั้งนี้กลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะช่วยให้สามารถนำออกไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศให้เพียงพอเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ DeepTech Industry
 
ต่อด้วยการจัดกิจกรรมระดมความเห็นกลุ่มย่อย 5 แผนงานหลัก ในการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy Model) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 1) การผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์และพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Research to Market & DeepTech Startup Development) 2) โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI Infrastructure) 3) กฎหมายและระเบียบโดยทั่วไป (General Legal & Regulation) 4) การลงทุนและการให้ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Investment & Strategic Funding) และ 5) สถาบันการศึกษาด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคน (SynBio Academy) เป็นการสะท้อนความพร้อมและความพยายามการผลักดันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ภายใต้ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทยให้สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตามควรจะต้องให้ได้ข้อมูลของกับทุกภาคส่วนให้ครบและรอบด้านเพื่อสามารถสร้างกลไกที่ให้เกิดนวัตกรรมและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ต่อไป