สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับ BOI แนะโอกาส AgTech Startup ใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุน ขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

News 15 มีนาคม 2566 3,208

NIA ร่วมกับ BOI แนะโอกาส AgTech Startup ใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุน ขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จัดงานสัมมนา “แหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพเกษตร Source of Fund for AgTech Startup series IV” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีการนำเสนอกลไกทางการเงินใหม่ๆ มุ่งเจาะลึกในกลุ่มการเกษตร สอดรับกับนโยบาย BCG-Economy ของ BOI รวมทั้ง การแชร์ประสบการณ์จากสตาร์ทอัพเกษตรที่ได้รับจากการส่งเสริมของ BOI ได้แก่ เสโนเวท เอไอ และอีซีไรซ์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

นายปริวรรต  วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย NIA

นายปริวรรต  วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย NIA กล่าวเปิดงานว่า งานสัมมนาในวันนี้ จะช่วยให้ท่านเห็นช่องทางการได้รับการสนับสนุนเงินทุนและกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐอย่าง BOI รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการส่งเสริมจาก BOI เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการก้าวไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และร่วมสร้างเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 1 (อุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์) BOI

คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 1 (อุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์) BOI ได้นำเสนอ “บทบาทของ BOI ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรเทคโนโลยี” ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน BOI ในยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยนโยบายหลักจะมุ่งเน้นไปทางสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี โดยกลไกส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนไปด้วย

  • Innovative เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
  • Competitive เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง
  • Inclusive เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ


ทั้งนี้ มี 9 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการบูรณาเครื่องมือสนับสนุนของรัฐ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ใช่ภาษี และกลไกทางการเงิน ร่วมกับการให้บริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน ผนวกกับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน ดังนี้

  1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีการปรับปรุงเป็น 10 หมวดอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นมีประเภทกิจการใหม่ที่รองรับ ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมด้านการเกษตรที่จะรองรับด้านการเกษตร เช่น การปลูกพืชพลังงาน การผลิตแป้งอินทรีย์ บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ โดยการได้รับการส่งเสริมจะขึ้นอยู่กับการแบ่งสิทธิประโยชน์
  2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ 1) ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม จากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และด้านพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และ 2) การส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรทักษะสูง
  3. มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention & Expansion Program) เป็นการกระตุ้นให้บริษัทใหญ่รายเดิม ยังใช้เป็นฐานการผลิต และขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง
  4. มาตรการส่งเสริมการย้านฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) เป็นการกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานธุรกิจมาในประเทศไทยแบบครบวงจร ทั้งโรงงานผลิต สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ R&D
  5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้โครงการขนาดใหญ่มีการลงทุนจริง ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าในระยะเวลาที่เร็วขึ้น ได้เพิ่มลดหย่อยภาษีเงินร้อยละ 50 ระยะเวลา 5 ปี ได้เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
  6. มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart & Sustainable Industry) ส่งเสริมการลงทุนที่เกิดขึ้นมาใหม่ รวมถึงลงทุนเดิมที่มีการปรับปรุงกิจการ เช่น ระบบอัตโนมัติ การประหยัดพลังงาน สามารถขอเฉพาะส่วนได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 หรือ 100 รายละเอียดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนด ในส่วนนี้ทางสตาร์ทอัพเกษตรจะมีโอกาสในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปให้บริการกับผู้ประกอบการด้านธุรกิจเกษตรได้
  7. มาตรการส่งเสริมการลงทุน SME ไทย โดยเงินลงทุนเพียง 1 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 4 ต่อ 1และอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศ ไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรในโครงการ จะได้วงเงินลงทุนได้ร้อยละ 200 และสามารถบวกเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามมาตรการอื่นได้
  8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 16 จังหวัด เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามเงื่อนประกาศของ BOI
  9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม เพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่ช่วยเหลือสังคมและชุมชน เช่น การสนับสนุนโดรนให้กับชุมชนเกษตร สามารถมาขอการได้รับการส่งเสริมจะได้ยกเว้นภาษีร้อยละ 200 

นอกจากนี้ BOI มีกลไกสนับสนุนทางการเงินสนับสนุนตาม พรบ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์สูงในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นใน 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ BioTechnology, NanoTechnology, Advance Material Technology, Digital Technology ไม่ได้ระบุกรอบวงเงิน โดยการเบิกจ่ายมี KPI กำหนดในแต่ละงวด
  2. มาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ในส่วนเงินสนับสนุนค่าจ้างบุคลากร/นิติบุคคล โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้างบุคคลากรเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการบริการ ค่าใช้จ่านที่ใช้คำนวณไม่เกิน 100,000 บาท/คน/เดือน และระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งนี้สตาร์ทอัพเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทยไม่เกิน 5 ปี ผ่านการระดมทุนจาก VC/CVC ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ไม่ได้เป็นผู้ผู้ได้รับการสนับสนุนด้านบุคคลากรจากหน่วยงานอื่นในโครงการเดียวกัน และ ต้องเสนอเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนต่อกองทุนเพิ่มฯ องค์กรที่เหมาะสม หรือต่อประเทศ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี หุ้น เงินสด สิ่งของ เป็นต้น

 

นส.พ.พงศนันท์ ขำตา Co-Founder บริษัท เสโนเวท เอไอ จำกัด

จากนั้นเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จากสตาร์ทอัพเกษตร 2 ราย เริ่มต้นด้วย นส.พ.พงศนันท์ ขำตา Co-Founder บริษัท เสโนเวท เอไอ จำกัด ผู้แทน ดร.เดวิด มกรพงศ์ CEO & Co-Founder ได้แนะนำว่า Senovate AI เป็นสตาร์ทอัพที่ spin off จาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยใช้ข้อมูลจากโคนมที่เหมาะสมกับในพื้นที่และภูมิภาคของไทย โดยตรวจติดตามตั้งแต่ระยะเวลาผสมพันธุ์ การผสมติดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มโอกาสการตั้งท้องและผลิตน้ำนมให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาแรงงานคน รวมถึงขยายไปสู่โคเนื้อในการเพิ่มอัตราการให้เนื้อเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งได้พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการฟาร์มโคเนื้อโคนมทดแทนการจดด้วยกระดาษร่วมด้วย เมื่อมีผลงานวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจนที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้ BOI เกิดความมั่นใจในธุรกิจ และได้มีคำแนะนำที่ตรงกับประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริม

 

คุณภูวินทร์ คงสวัสดิ์ CEO & Co-Founder บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด
ต่อด้วยคุณภูวินทร์ คงสวัสดิ์ CEO & Co-Founder บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด เป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมข้าวทั้งในเชิงกายภาพและเชิงเคมี โดยขยายไปสู่ข้าวสาลี ข้าวโพด และกาแฟ เพื่อลดความผิดพลาดการตรวจสอบคุณภาพข้าว เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการตรวจสอบ โดยการขอการสนับสนุนจาก BOI เป็นโครงการใหม่ที่ได้รับมาจากโจทย์จากลูกค้า ยังไม่ได้เคยรับทุนจากหน่วยงานรัฐมาก่อน แต่ต้องแสดงให้เป็นประโยชน์และผลกระทบที่ชัดเจนกับประเทศ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจและการเงินที่จะแสดงให้เห็นว่า มีเงินเพียงพอจ่ายในค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ โดยจะได้รับการเป็นเงินสนับสนุน ตาม KPI ที่ได้ตกลงรวมกัน
ปิดท้ายด้วยคุณมณฑา  ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA ได้กล่าวประชาสัมพันธ์ให้สตาร์ทอัพเกษตร Update ข้อมูลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงรูปภาพประกอบ เพื่อรวบรวมลงในหนังสือ “เปิดโลกวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรไทย” ปี 2023 โดยสามารถเพิ่มเติมข้อมูลได้ที่ https://forms.gle/Fji6AxjKVj3mcLvA7


สามารถชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/gT8aREKzxrM 

 

#NIA #BOI #Innovation #AgTechStartup #Funding #BCG #Agriculture #SenovateAI #EasyRice