สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ความบันเทิงสุด “พรรณนา” ในโลกแห่งความมืดมิด

บทความ 8 มีนาคม 2564 2,607

ความบันเทิงสุด “พรรณนา” ในโลกแห่งความมืดมิด


“ไม่ได้ต้องการคนดูแล… แต่ต้องการนวัตกรรมที่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”


นี่คือสิ่งสำคัญที่คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล อดีตนายธนาคาร ได้เรียนรู้จากการทำงานอาสาสอนหนังสือให้กับผู้พิการทางการเห็น แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามามีส่วนช่วยในการใช้ชีวิตพื้นฐานของผู้พิการทางการเห็น แต่ในมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้น ยังไม่ค่อยมีนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์พวกเขาสักเท่าไร


โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่สังคมสะสมไปด้วยความเครียดและกดดัน ‘ความผ่อนคลาย’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใครๆ ก็ใฝ่หา ซึ่งแน่นอนว่าผู้พิการทางการเห็นก็ต้องการหาความบันเทิงใส่ตัวเช่นเดียวกัน และหนึ่งในตัวเลือกของความบันเทิงที่ผู้พิการทางการเห็นอยากเสพนั้นก็คือ ‘หนังหรือซีรีส์’ เหมือนที่คนสายตาดีเอ็นจอยกันทุกวันทุกคืนนั่นแหละ


จากความต้องการเล็กๆ ของผู้พิการทางการเห็น กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คุณฉัตรชัยทีมและทีมบริษัทกล่องดินสอ พัฒนา ‘พรรณนา’ ขึ้นมา ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งพรรณนาเป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้พิการทางการเห็นมีความสุขกับการดูหนังได้อย่างมีอรรถรส ด้วยระบบ Automatic Content Recognition (ACR) ที่จะเล่น ‘เสียงบรรยายภาพ’ ซึ่งปกติผู้พิการไม่สามารถรับรู้ได้จากการฟังเพียงอย่างเดียว เช่น สีหน้าของตัวละคร แอคชั่นท่าทางที่ทำ รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจอ  


ตัวฟีเจอร์ ACR มีหลักการทำงานง่ายๆ คล้ายกับแอปพลิเคชันช่วยหาเพลงที่หลายคนรู้จักอย่าง Shazam หรือ SoundHound โดยระบบจะสแกนเสียงของหนังหรือซีรีส์ที่กำลังเล่นอยู่ แล้วนำชุดคลื่นเสียงดังกล่าวไปประมวลผลเทียบกับฐานข้อมูลที่อยู่บนคลาวด์ ก่อนจะซิงก์ ‘เสียงบรรยายภาพ’ กลับมาให้ในวินาทีเดียวกันเป๊ะ แค่เพียงผู้ใช้งานคลิกปุ่มเดียว ก็เข้าสู่โหมดความบันเทิงได้เต็มสูบ


ความท้าทายของการพัฒนา ‘พรรณนา’ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี เพราะจริงๆ แล้ว ACR เป็นระบบที่ใช้กันแพร่หลาย แต่ความยากกลับอยู่ที่การจัดทำ ‘เสียงบรรยายภาพ’ ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งค่าเขียนบทบรรยายภาพใหม่ ค่าเสียงผู้บรรยาย ค่าโปรดักชัน รวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 หมื่นต่อละคร 1 ตอน หรือถ้าเป็นหนังยาวก็อาจสูงถึงหลักแสนต่อเรื่อง ซึ่งคุณต่อเล่าให้กับ NIA ฟังว่า ในช่วงแรกเริ่มทางบริษัทเองไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงได้ขนาดนั้น จนต้องเริ่มติดต่อหาพาร์ทเนอร์ร่วมงานอย่างจริงจัง


น่าดีใจที่มีกลุ่มคนซึ่งเชื่อในความเท่าเทียมและมองเห็นถึงความสำคัญของแอปฯ พรรณนา แบบเดียวกัน นั่นคือ GDH และ SF Group ที่เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายและร่วมกันจัดทำเสียงบรรยายภาพเติมเข้าไปให้กับพรรณนา จนมีคอนเทนต์หลากหลายพอที่จะเปิดให้ใช้งานได้จริง ช่วงปลายปี 2017 จนถึงปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแอปฯ ไปแล้วกว่า 10,000 ครั้ง


จากผลความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้คุณต่อก้าวเท้าเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมจาก NIA และนำไปพัฒนาพรรณนา ต่อยอดเป็นเวอร์ชันที่ 2 โดยมีการปรับปรุงอินเตอร์เฟซการใช้งานให้มีความซับซ้อนน้อยลง ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มหลายๆ ต่อเพื่อเชื่อมเสียง มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่เป็นผู้พิการทางการเห็นมากขึ้น รวมถึงเติมฟีเจอร์ประหยัดพลังงาน ให้ตัวแอปฯ เข้าสู่โหมดพักหน้าจออัตโนมัติ ใช้งานมือถือได้นานยิ่งขึ้น แถมยังไม่มีแสงจากหน้าจอไปรบกวนคนรอบข้างอีกด้วย 


ทุกวันนี้ พรรณนา รวบรวมหนังและซีรีส์กว่า 100 คอนเทนต์ จากค่ายดัง เช่น GDH 559 นาดาว โมโนฟิลม์ SF เมเจอร์ Viu.com ไทยพีบีเอส และทางบริษัทกล่องดินสอ ยังเตรียมพัฒนา ‘โวหาร’ แอปพลิเคชันตัวใหม่ ที่จะเปิดให้อาสาสมัครซึ่งเป็นคนทั่วไป ช่วยกันเขียน ‘บทบรรยายภาพ’ ของวิดีโอต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย ส่งเข้ามา ก่อนทางบริษัทจะคัดเลือกและรวบรวมเข้าสู่พรรณนาเพิ่ม เพื่อให้ตัวแอปฯ ครอบคลุมวิดีโอคอนเทนต์ที่หลากหลายให้ผู้พิการทางการเห็นได้รับชมมากขึ้นกว่าเดิม


นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ ที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ให้พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุขยิ่งขึ้น และหากใครที่มีแรงบันดาลใจอยากช่วยเหลือสังคมแบบเดียวกันนี้ อย่าพลาดที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Social Innovation Incubation Program 2021’ โครงการบ่มเพาะไอเดียสำหรับชาวนวัตกรเพื่อชิงทุนสนับสนุนให้นำไปพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง สามารถดูเงื่อนไขการสมัครได้ที่ https://www.nia.or.th/BITSocialScaleup 


ติดตามคอนเทนต์ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสตาร์ทอัพ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nia.or.th/article/blog.html