สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปรับรับก่อนสาย...อุตสาหกรรมควรมุ่งหน้าไปทางไหน เพื่อสร้างปาฏิหาริย์แห่ง Net Zero Emissions

20 มีนาคม 2566 2,282

ปรับรับก่อนสาย...อุตสาหกรรมควรมุ่งหน้าไปทางไหน เพื่อสร้างปาฏิหาริย์แห่ง Net Zero Emissions

ในอดีตเป้าหมายของมนุษย์มักจะผูกติดอยู่กับตัวเลข ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นจะยิ่งบอกได้ถึงอำนาจของผู้ถือครอง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ในขณะนี้ โลกได้มีเป้าหมายใหม่ที่เปลี่ยนไปให้คุณค่ากับตัวเลขที่ลดลง แล้ววัดกันที่ความสำเร็จผ่านการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “Net Zero Emissions” หรือก็คือการทำให้ผลรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 2 แนวทาง ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการดูดซับก๊าซเหล่านั้นคืนกลับมาจากชั้นบรรยากาศ

เลขศูนย์นี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ทาง ทั้งบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และช่วยลดการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากมลพิษต่างๆ  แต่เมื่อมองในแง่ของการปฏิบัติ เป้าหมายนี้ยังถือว่ามีความท้าทายอยู่เพราะจำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับโครงสร้าง และยังต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากในปัจจุบัน จึงทำให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องค่อยๆ หาหนทางในการทำธุรกิจอย่างรอบคอบเพื่อขานรับกับสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคกำลังเรียกร้องอยู่ในปัจจุบัน

อีกตัวแปรสำคัญ จากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นจนถือเป็นปัญหาระดับ ‘Code Red’ นั้นสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาอีกด้วย เช่น น้ำท่วมไทยในปี 2011 ที่สร้างมูลค่าความเสียหายโดยรวมไปสูงกว่า 14.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากเราสามารถบรรเทาความรุนแรงแห่งวิกฤตการณ์นี้ได้ ก็จะช่วยพาธุรกิจให้รอดพ้นจากความเสี่ยงได้เช่นกัน ทั้งยังมีผลกระทบในเชิงบวกให้เห็น จากรายงานของ Energy and Climate Intelligence Unit (ECIU) ที่บอกไว้ว่า 49% ของการเติบโตทาง GDP ทั่วทั้งโลกนั้นมาจากภูมิประเทศที่มีการตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับ Net Zero ทั้งสิ้น โดยในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมาได้มี 8 ประเทศที่สามารถเข้าสู่เส้นชัยแห่งเลขศูนย์นี้ได้แล้ว นั่นก็คือ ภูฏาน คอโมโรส กาบอง กายอานา มาดากัสการ์ นีวเว ปานามา และซูรินาเม ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีข้อได้เปรียบจากการมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอสำหรับดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากเขตประเทศของตัวเอง

แต่แนวทางในการสร้างพื้นที่สีเขียวเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรม ถ้าเช่นนั้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถเรียกคืนผืนป่าได้แล้วจะต้องทำอย่างไรในการเข้าสู่หมุดหมายแห่ง Net Zero จากข้อมูลของ Mckinsey ได้นำเสนอมุมมองธุรกิจที่จะสามารถรับมือกับข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บสำหรับแก้ไขข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นแผนที่เพื่อคอยนำทางให้เหล่าผู้ประกอบการได้เห็นแนวทางในการปรับตัวตามเทรนด์โลกยุคปัจจุบัน

⚡ เริ่มจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นต้นน้ำไปสู่การต่อยอดอีกมหาศาล จุดกำเนิดของพลังงานเหล่านี้คือสารอินทรีย์ที่ทับถมเป็นเวลานานจนกลายเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบสำหรับยานยนต์ ก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า หรือนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิต แต่ก่อนที่จะนำเชื้อเพลิงเหล่านี้ไปใช้งานได้นั้น จะต้องผ่านการเผาไหม้ด้วยความร้อนที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในปัจจุบัน ทั้งยังปล่อยมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงเป็นเหตุผลที่ในอนาคตข้างหน้าธุรกิจเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนไปหาพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานมหาสมุทร หรือพลังงานที่ 2 ขั้วอำนาจของโลกกำลังพยายามไขว่คว้าอย่างพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน

🏭 แต่ก็อย่าลืมว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่ได้อยู่แค่ในอุตสาหกรรมพลังงานหรือการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น เพราะยังถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตอื่น เช่น พลาสติก ปุ๋ยอินทรีย์ ปูนซีเมนต์ หรือยางสังเคราะห์ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่สร้างมลพิษสูง ดังนั้นแนวทางในอนาคตจึงต้องปรับตัวไปพึ่งพาสารตั้งต้นอื่นๆ ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการผลิต เช่น ใช้ถ่านหินแบบเชื้อเพลิงสะอาด ส่วนธุรกิจปลายน้ำก็จะต้องหันมาออกแบบสินค้าให้รองรับพลังงานทางเลือกมากขึ้น มุ่งสู่โรงงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะต้องอาศัยเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างโรงงาน หยุดการซื้อและใช้อุปกรณ์ต้นทุนต่ำ เพราะเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกการใช้งานตามสถานการณ์ที่สังคมโลกเรียกร้องให้องค์กรปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

🐄 นอกจากพลังงานหรือของใช้ต่างๆ สิ่งสำคัญอีกอย่างที่มนุษย์ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คืออาหาร ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ สำหรับภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมที่สร้างมลพิษตั้งแต่การเผาหน้าดิน ทำลายพื้นที่ป่า ไปจนถึงการใช้ปุ๋ยเคมี ในอนาคตเกษตรกรเหล่านี้จะต้องปรับตัวศึกษาวิธีทำการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ เช่น การปรับปรุงที่เพาะปลูก ระบายแหล่งน้ำขัง เลิกการไถพรวนหน้าดินเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ และจัดการมูลสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ส่วนภาคธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากที่ดิน เช่น นิคม เหมืองแร่ หรือแหล่งที่อยู่อาศัย ควรจะต้องหันไปลงทุนในการสร้างสมดุลทางธรรมชาติ จัดการป่าไม้ และใช้พื้นที่ป่าในการสร้างคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอื่นๆ

👩‍💻และสุดท้ายได้แก่ ธุรกิจการบริการ ที่หากมองเพียงผิวเผินก็อาจไม่รู้ว่าปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้ได้สร้างผลกระทบต่อโลกไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษจากผู้บริโภคในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่มีแนวโน้มปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเฉลี่ย 1.6 ตันต่อหัว ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ อยู่ที่เฉลี่ย 0.9 ตันต่อหัวเท่านั้น แนวทางในอนาคต ผู้ให้บริการจึงต้องกระตุ้นผู้บริโภคอย่างจริงจังเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการบริการให้สอดคล้องกับการลดปริมาณคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การจัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

เพราะทุกวันนี้ปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้กลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ผู้นำแต่ละองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวดึงศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ตั้งแต่ผู้คน เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างปาฏิหาริย์แห่ง Net Zero Emissions ที่ “ประเทศไทย” เองก็ได้ร่วมลงนามในเป้าหมายนี้ ถือเป็นกุญแจดอกสุดท้ายที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีต้นทุนการผลิตที่คุ้มค่า ที่สำคัญที่สุดคือช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพราะถือเป็นการขานรับในสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคกำลังเรียกร้องจากผู้ประกอบการในอนาคต

[*COP26 หมายถึงการประชุมเจรจาที่กลาสโกว์ โดย COP ย่อมาจาก Conference of Parties และ COP ที่รู้จักกันดีก็คือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเป็นเวทีเจรจาระดับโลกว่าด้วยวิกฤตโลกร้อนที่ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดย COP26 จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ดังนั้นการประชุมนี้จึงถือเป็นเส้นตายที่รัฐบาลจำเป็นต้องบอกให้โลกรู้ว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากน้อยเพียงใดนั่นเอง]

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.mckinsey.com/capabilities/sustainability/our-insights/how-the-net-zero-transition-would-play-out-in-countries-and-regions
https://eciu.net/media/press-releases/2020/almost-half-of-global-gdp-under-actual-or-intended-net-zero-emissions-targets
https://techsauce.co/news/8-countries-achieved-net-zero-emissions
https://www.mckinsey.com/capabilities/sustainability/our-insights/how-the-net-zero-transition-would-play-out-in-countries-and-regions
https://www.greenpeace.org/thailand/story/21511/climate-emergency-cop26-net-zero-emission/
https://www.thansettakij.com/sustainable/551107