สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

7 ปี Local Alike เพราะความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ต้องใช้มากกว่าเทคโนโลยี

บทความ 30 ธันวาคม 2562 12,163

7 ปี Local Alike เพราะความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ต้องใช้มากกว่าเทคโนโลยี

หากพูดถึงสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่คงนึกถึงการให้บริการจองที่พัก ฝากกระเป๋า สแกนหาร้านกินข้าวอร่อยๆ หรือจองตั๋วเครื่องบินผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งช่วยทำให้ชีวิตเราง่ายอีกขึ้นเป็นกอง สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์เร็วๆ ของคนยุคใหม่ในยุค 5G

.

แต่ก็ใช่ว่าการพัฒนา “แอปพลิเคชัน” จะเป็นสูตรสำเร็จของการทำสตาร์ทอัพท่องเที่ยวเสมอไป วันนี้ NIA ชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวของ “Local Alike” สตาร์ทอัพท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกของไทยที่โด่งดังไกลในเวทีโลก แม้ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันในการสื่อสารกับลูกค้าก็ตาม

.

Local Alike เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ทั้งในแบบ One-Day Trip หรือแพคเกจทัวร์แบบค้างคืน โดยจุดเริ่มต้นมาจาก “คุณไผ – สมศักดิ์ บุญคำ” วิศวกรไทยหัวใจนักพัฒนา ที่ปิ๊งไอเดียธุรกิจสมัยยังทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 

.

จากการมีโอกาสได้อยู่ร่วมกับชาวบ้าน และมองเห็นศักยภาพของแต่ละชุมชนที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างมีเอกลักษณ์ บวกกับการที่เจ้าตัวเองมาจากต่างจังหวัด จึงต้องการช่วยกระจายรายได้จากหัวเมืองใหญ่ๆ ออกไปสู่คนในท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น 

.

แม้ Local Alike จะเป็นแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” แต่ปัจจุบันก็ยังให้บริการจองทริปเพียงบนเว็บไซต์เท่านั้น เนื่องจากคุณไผและทีมงานเคยเสียเวลาร่วม 3 เดือน และเงินทุนบางส่วนในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับลูกค้า แต่ท้ายที่สุดก็ต้องล้มเลิกไป เพราะแอปฯ ไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย

.

โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่มักมองหาข้อมูลรีวิวและใช้เวลาตัดสินใจนานก่อนเลือกใช้บริการ เรื่องความรวดเร็วจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่พวกเขามองหา ดังนั้นการจะหยิบนวัตกรรมมาใช้ จึงต้องเข้าใจรูปแบบธุรกิจของตนเองและมองพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชัด และแน่นอนว่า “บางเทคโนโลยี ก็ใช้ไม่ได้กับบางธุรกิจ”

.

ในทางกลับกัน Local Alike กลับกำลังพัฒนาแอปฯ หลังบ้านที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งสถานะการจอง การบริหารการเงินอย่างโปร่งใส หรือการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนนำไปต่อยอด ฯลฯ ที่ในอดีตคนชุมชนจะต้องจดมือเอาเอง

.

และเมื่อถามถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนในต่างจังหวัดเองเป็นอย่างไร ? คุณไผเองแบ่งปันมุมมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลอด 7 ปีที่ผ่านมาพบว่า 3 ใน 4 ของหมู่บ้านทั้งหมดที่ Local Alike ร่วมงานด้วยนั้น ได้กลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคนเข้ามาช่วยคนรุ่นเก่าในการดำเนินงานชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

.

จนถึงวันนี้  Local Alike มีผู้เข้าชมและจองบริการบนเว็บไซต์หลายล้านคน ซึ่งเติบโตขึ้นกว่าปี 2018 ที่ผ่านมาถึง 3 เท่า แต่ความสุขของ Local Alike ไม่ใช่เพียงกำไรที่ทำได้ แต่ยังรวมถึงการที่พวกเขาสามารถสร้างอาชีพให้คนอีก 2,000 คน ทั่วประเทศ และเพิ่มรายได้กลับสู่ชุมชนรวมสูงถึง 54 ล้านบาทเลยทีเดียว

.

นับว่าเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทยจากการสนับสนุนของ NIA ผู้มาช่วยตอกย้ำนิยามของคำว่า “นวัตกรรม” ที่มากไปกว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแสวงผลกำไร แต่ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยกระจายรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นอีกด้วย