สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมที่สร้างความเสมอภาคและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

28 มิถุนายน 2566 8,108

นวัตกรรมที่สร้าง "ความเสมอภาค" และสนับสนุน "ความหลากหลายทางเพศ"

เดือนมิถุนายนของทุกปี เราจะได้เห็นภาพการเฉลิมฉลองของผู้คนทั่วโลก ภายใต้เดือนที่เรียกว่า "Pride Month" หรือเดือนความภาคภูมิใจ โดยเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนที่นิยามตนเองว่าเป็น LGBTQ+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer/Questioning, and others) และกลุ่มคนที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมของ LGBTQ+ ในการสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงการมีอยู่ของคนผู้คนที่มีเพศหลากหลายมากกว่าแค่เพศชายหรือเพศหญิง อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีแม้ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

 

San Francisco Pride Parade 2023

ภาพขบวนพาเหรดของงาน “San Francisco Pride Parade 2023” ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ขอบคุณภาพจาก https://abc7news.com/san-francisco-pride-parade-2023-sf-photos-video-lgbtqia/13418738/ 

 

ประเทศไทยเองก็มีการจัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา ศิลปิน และนักการเมือง ต่างเข้าร่วมเฉลิมฉลองขบวนพาเหรดสีรุ้งจนกลายเป็นมหานครแห่งสายรุ้ง รวมถึงการจัดกิจกรรมและขบวนพาเหรดในพื้นที่นอกกรุงเทพ เช่น แม่สอดไพรด์ (จ.ตาก) บุรีรัมย์ไพรด์ (จ.บุรีรัมย์) อุบลไพรด์ (จ.อุบลราชธานี) หาดใหญ่ไพรด์ (จ.สงขลา) สกลไพรด์ (จ.สกลนคร) อีสานไพรด์ (จ.ขอนแก่น) พัทยาอินเตอร์เนชั่นแนลไพรด์ (จ.ชลบุรี) อุดรไพรด์ (จ.อุดรธานี) และระยองไพรด์ (จ.ระยอง) ซึ่งจะเห็นได้ว่า สังคมไทยและสังคมอื่น ๆ ทั่วโลกมีการเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศและการรับรู้ถึงความหลากหลายในแง่ของเพศและเพศวิถีมากยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางเพศนั้นสร้างโอกาสให้กับผู้คนที่มีประสบการณ์และอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย นำไปสู่การสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้เปิดเผยตัวตนได้อย่างเต็มที่ และสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุนผู้คนที่มีเพศที่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม

 

ภาพขบวนพาเหรดของงาน “บางกอกไพรด์ 2023” ที่กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณภาพจาก https://www.timeout.com/bangkok/th/news/bangkok-pride-parade-2023-june-4-060523
ภาพกิจกรรมไพรด์ในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย
ขอบคุณภาพจาก https://web.facebook.com/bangkokpride2023, https://web.facebook.com/showyourspectrum, https://web.facebook.com/Ubonpride, https://web.facebook.com/profile.php?id=100076040292895

 

ดังนั้น การคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างความเสมอภาคและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในมิติความแตกต่างของเพศ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคของทุกเพศในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างสังคมที่เปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น นอกจากจะช่วยให้สังคมมีความเสมอภาคและยอมรับความหลากหลายทางเพศของผู้คนแล้ว ยังสร้างโอกาสใหม่ที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยบริบทของสังคมในปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีการนำนวัตกรรมเข้าไปแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ ดังนี้

 

การเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้หญิงและ LGBTQ+

ในอดีตผู้หญิงและ LGBTQ+ อาจถูกจำกัดการเข้าถึงสิทธิและบทบาทต่าง ๆ ในเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้หญิงและ LGBTQ+ ให้มีส่วนร่วมและบทบาทที่สำคัญในองค์กรและการตัดสินใจ หรือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษา การเตรียมความพร้อมทางอาชีพ และโครงสร้างการบริหารที่เปิดโอกาสแก่ผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQ+ จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการลดช่องว่างระหว่างการผูกขาดทางอำนาจของผู้ชายในสายงานต่าง ๆ

ตัวอย่างนวัตกรรมที่เสริมสร้างพลังอำนาจของผู้หญิง ได้แก่ โครงการ Girls Who Code เป็นโครงการที่สร้างทักษะด้านเทคโนโลยีและความเข้าใจในเทคโนโลยีให้กับเด็กผู้หญิง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ เช่น การจัดอบรมการเขียนโปรแกรม การพัฒนาเว็บไซต์ การสร้างแอปพลิเคชัน การทำงานกับฮาร์ดแวร์ และทักษะด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้หญิง เป็นต้น

 

ภาพเด็กผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ Girls Who Code
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/GirlsWhoCode

 

การป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศ

ความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในสังคมทั่วโลก โดยระยะหลังสังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับวาจาไปจนถึงระดับอาชญากรรม

ตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น bSafe แอปพลิเคชันบนมือถือที่ป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและอันตรายอื่น ๆ โดยมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น สามารถติดตามตำแหน่งที่อยู่ด้วย GPS การตั้งเวลาเพื่อส่งข้อความขอความช่วยเหลือถึงเพื่อนหรือคนในครอบครัว ตลอดจนมีฟีเจอร์ Fake Call เอาไว้แกล้งโทรศัพท์ตอนกำลังถูกเดินตาม หรือมีปุ่ม SOS เพื่อแจ้งหน่วยกู้ภัย เป็นต้น

 

ภาพแสดงการทำงานของ bSafe
ขอบคุณภาพจาก https://www.getbsafe.com/blogg/digital-infrastructure

 

การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ สุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เสมอภาคและคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตให้กับทุกคนในสังคม เช่น การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสำหรับเพศต่าง ๆ โดยเฉพาะการกระจายการเข้าถึงการดูแลสุขภาวะทางเพศและวัคซีนป้องกันโรค การประกันสุขภาพและระบบคัดกรองของผู้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศที่มีความพร้อม หรือแม้แต่การเพิ่มความสามารถในการวิจัยและการเสนอข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างนวัตกรรมด้านการบริการสุขภาพของไทยที่น่าสนใจ เช่น Pulse Clinic คลินิกไทย ที่ส่งเสริมสุขภาวะทางเพศแบบองค์รวมโดยไม่มีการตีกรอบหรือตัดสินความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมีการให้บริการตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา การรักษา การจ่ายยา ตลอดจนถึงการรักษาโดยแพทย์ทางเลือก เป็นต้น

 

ภาพ Pulse Clinic สถานบริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ
ขอบคุณภาพจาก https://www.pulse-clinic.com/th/about

 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกเพศ

สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกเพศเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่เสมอภาคและสนับสนุนการใช้ชีวิตของเพศต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยจะเห็นความพยายามในการออกแบบพื้นที่สาธารณะและสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงความต้องการและประสิทธิภาพการใช้งานของทุกเพศ การออกแบบโครงสร้างองค์กรที่เป็นมิตรกับทุกเพศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนความสามารถและความสะดวกสบายของทุกเพศในสถานที่ทำงานและชีวิตประจำวัน

Toalett för alla (ห้องน้ำสำหรับทุกคน) คอนเซปต์ห้องน้ำสาธาณะจากสวีเดน เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยอาศัยการออกแบบที่มีเป้าหมายเพื่อรองรับผู้ใช้งานทุกเพศและเพศอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยรองรับการใช้งานที่หลากหลายอันเนื่องมาจากเพศสรีระ หรือเหตุผลทางด้านสุขภาวะทางเพศ เช่น การมีอ่างล้างหน้าอยู่ในห้องน้ำสำหรับล้างมือกรณีต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย เป็นต้น

 

ภาพตัวอย่างห้องน้ำสาธารณะจากประเทศสวีเดนที่ออกแบบให้รองรับเพศวิถีที่หลากหลายของผู้คน
ขอบคุณภาพจาก https://projektlillaslottet.wordpress.com/2017/01/12/aven-en-toalett-kan-vara-en-upplevelse

 

การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมเพื่อลดอคติทางเพศ

บรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคม การเลือกปฏิบัติ หรือการมีอคติทางเพศนั้นล้วนเกิดจากความเชื่อและคุณค่าที่สังคมนั้นให้ไว้ จนนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมตามมา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมเพื่อลดอคติทางเพศ จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้คนในสังคมเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของเพศที่มีอยู่ในสังคมมากขึ้น ลดทอนความเชื่อเดิมที่ปิดกั้นโอกาสทางสังคมที่เกี่ยวกับเพศ และเปิดโอกาสให้กับเพศต่าง ๆ ได้แสดงศักยภาพ และได้ใช้ชีวิตตามแบบที่เขาเป็นอย่างมีศักดิ์ศรี

โดยโครงการที่สามารถสร้างค่านิยมใหม่ในกลุ่มผู้ชาย ได้แก่ โครงการ MenCare ที่มุ่งเน้นพัฒนาบทบาทของชายในการเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิดและพฤติกรรมของผู้ชายเพื่อทลายกรอบความเชื่อเดิม อันนำไปสู่ความเชื่อใหม่ที่ว่า ผู้ชายก็สามารถดูแลเด็กและผู้สูงอายุได้ดีเช่นเดียวกัน

ภาพตัวอย่างแคมเปญจากโครงการ MenCare ที่สนับสนุนบทบาทด้านการดูแลเด็กของผู้ชายในสังคม
ขอบคุณภาพจาก https://men-care.org/what-we-do/media-campaigns/

 

นวัตกรรมที่กล่าวมานั้น เป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันของทุกเพศในสังคม และยังสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะเปิดรับสมัครโครงการ “City & Community Innovation Challenge 2024” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมที่สร้างความเสมอภาคและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ” โดยเฟ้นหาโครงการนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างความเสมอภาคและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นนวัตกรรมที่ช่วยสร้างโอกาสที่เสมอภาคและสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าเพศใดก็ตาม

 

บทความโดย
วงศกร จูเจี่ย (เฟรนด์)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)