สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ประเทศไทยอยู่จุดไหนในอันดับนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII 2019)

บทความ 12 กันยายน 2562 7,861

ประเทศไทยอยู่จุดไหนในอันดับนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII 2019)


แม้เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตน้อยลง แต่ผลคะแนนดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ปี ค.ศ. 2019 กลับพบว่าการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมทั่วโลกเติบโตขึ้น จากผลการสำรวจทั้งหมดกว่า 129 ประเทศ อันดับ 1 ตกเป็นของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (67.24) ตามมาด้วยประเทศสวีเดน (63.65) สหรัฐอเมริกา (61.73) เนเธอร์แลนด์ (61.44) และอังกฤษ (61.30) โดยผลคะแนนดัชนีนวัตกรรมโลกของปีนี้มาในธีมนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ (Creating Healthy Lives – The Future of Medical Innovation) ที่มองเห็นความสำคัญของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเรา

อันดับดัชนีนวัตกรรม


ประเทศไทยเองก็ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากอันดับที่ 44 มาอยู่ที่อันดับ 43 ด้วยคะแนนรวม 38.63 คะแนน ติดอันดับ 4 จากทั้งหมด 34 ประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-income Economies) เป็นประเทศที่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเกินความคาดหมายเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP และยังเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าโดยครองอันดับ 1 ของกลุ่มอาเซียนในด้านการส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย

เปรียบเทียบองค์ประกอบในแต่ละมิติ


ความสำเร็จทั้งหมดนี้เป็นผลจากการพัฒนาในด้านปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation Input Sub-index) ที่เลื่อนจากอันดับที่ 52 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 47 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output Sub-index) ที่ขยับจากอันดับที่ 45 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 43 ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังทำผลงานได้ดีขึ้นในด้านสถาบัน (Institutions) ด้านทุนมนุษย์และการวิจัย (Human Capital and Research) ด้านศักยภาพทางธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Output)

จะเห็นได้ว่าในปีนี้ แม้อันดับโดยรวมของไทยจะเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่อันดับของปัจจัยเข้าทางนวัตกรรมและปัจจัยผลผลิตทางนวัตกรรมก็ยังเติบโตสูงขึ้น หากไทยรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสมดุลในด้านต่าง ๆ อย่างในปีนี้เอาไว้ได้ พร้อมทั้งปรับระบบวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมของประเทศตั้งแต่ระดับโครงสร้าง ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในด้านที่ยังบกพร่องอยู่และทำให้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรมและปัจจัยผลผลิตสมดุลมากยิ่งขึ้น จุดนี้เองที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทยและส่งผลต่อคะแนนดัชนีนวัตกรรมได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่ง NIA ก็ได้วางแนวทางพัฒนาคะแนนดัชนีนวัตกรรมของไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

.

แหล่งที่มา:

หนังสือ 10th Year NIA: Toward Innovation Nation

https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_gii_2019.pdf

https://www.voicetv.co.th/read/9Ri0JWB6u?fbclid=IwAR1l51ZYpm3uks0LpzwzhciayOYec7qJhj1BqCQnqTmVF2ByKArfLxophco