สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ในวันที่โลกโกลาหลเกินคาดเดา Foresight เครื่องมือส่องภาพอนาคต จากสมการ: ข้อมูล + จินตนาการ = ทางรอด

8 สิงหาคม 2566 3,958

ในวันที่โลกโกลาหลเกินคาดเดา Foresight เครื่องมือส่องภาพอนาคต จากสมการ: ข้อมูล + จินตนาการ = ทางรอด


โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน! จากยุคแห่ง Disruption มาสู่ยุคแห่ง VUCA และกลายมาเป็น BANI ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

🔎 หากจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโลกที่ผันผวนเร็วขนาดนี้ การลองศึกษาเพียงแค่มุมจากอดีตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการมองไปยังคำตอบแห่งอนาคต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Foresight” ซึ่งต้องผสมผสานระหว่างการใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการมองหา Foresight Tools ที่เป็นชุดเครื่องมือนำไปสู่การออกแบบจุดหมายปลายทาง เพื่อนำมาต่อยอดวางแผนยุทธศาสตร์ สร้างแนวทางการปฏิบัติที่มาจากการวิเคราะห์ตามแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

หากอยากเข้าใจแบบเจาะลึกก็อธิบายตามหลักการได้ว่า Foresight เป็นเครื่องมือในการมองอนาคตที่มีความเหมาะสมในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มี Complex Issue มีปัจจัยหลายส่วนที่ต้องนำมาพิจารณา โดยองค์ประกอบในการมองอนาคตจะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ “ข้อมูลสัญญาณการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจะต้องสกัดออกมาเป็น Trends หรือแนวโน้มต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ต่อมาจึงมองหา Driving Forces หรือพลังการขับเคลื่อน เพื่อใช้เป็นกรอบในการมองว่า Driving Forces เหล่านั้น จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาพอนาคตไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร โดยเมื่อได้สัญญาณการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ก็จะนำมาสร้างภาพอนาคตโดยอาศัย “จินตนาการ” ที่เกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่จะได้รับผลกระทบ

โดยการมองอนาคตนั้นสามารถใช้ติดตามทิศทางความเปลี่ยนแปลงได้ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จากตัวอย่างที่ผ่านมาคือได้มีการศึกษาภาพอนาคตของ ‘ธุรกิจการท่องเที่ยว’ หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งความซบเซาจากวิกฤตโรคระบาด เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง 

จนนำมาสู่กลยุทธ์และแผนการรับมือ ว่าหลังจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยควรหันมาเสริมจุดแข็งด้วยการพึ่งพา SMEs ที่มีความสามารถในการปรับตัว เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย สามารถผูกเข้ากับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการมอบประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่สำคัญคือต้องมีการกระจายตัวของแหล่งท่องเที่ยวออกไปยังเมืองรองอื่นๆ พร้อมกับการมีความรับผิดชอบในด้านความยั่งยืน ตามความตระหนักรู้ของนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ 

หรืออย่าง “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ก็ได้มีการมองภาพอนาคตไว้เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรุนแรงให้เห็นดังเช่นทุกวันนี้ โดยมีการมองไปยังปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความตื่นตัวของประชาชนจากการเข้าถึงข้อมูล รวมไปถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถเอื้อต่อการผลิตนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น

จึงออกมาเป็นภาพอนาคตที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะถูกแก้ไขจากความร่วมมือโดยทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ภาครัฐที่ต้องมีนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวด จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เอกชนช่วยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสอดรับการแก้ปัญหา มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้าง Country Dashboard เพื่อติดตามข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติแบบเรียลไทม์ ส่วนประชาชนก็มีการหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี จนประเทศบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้

นอกจากปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ หรือผลกระทบจากธรรมชาติ Foresight ยังสามารถนำมาวิเคราะห์ความท้าทายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น “อนาคตของการทำงาน” โดยได้วิเคราะห์จากปัจจัยขับเคลื่อนที่เห็นในปัจจุบัน เช่น การที่หลายองค์กรเริ่มเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถออกแบบการทำงานเองได้ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดข้อจำกัด รวมไปถึงแนวโน้มการทำงานที่บริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับทักษะความรู้ความสามารถ ส่งผลให้แรงงานพยายามพัฒนาทักษะที่เหมาะสมต่อรูปแบบของงานได้

หนึ่งในภาพอนาคตที่น่าสนใจจากกระบวนการ Foresight อนาคตการทำงานของคนไทย คือ ภาพที่เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว จากภาครัฐที่มีการใช้นโยบายสนับสนุนให้ทุกคนมีหลักประกันทางด้านรายได้ มีเวลาให้กับการพัฒนาทักษะส่วนตัวอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ลักษณะการทำงานมีความยืดหยุ่น ทุกคนสามารถหาเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างสมดุล ซึ่งภาพนี้สามารถใช้เพื่อนำเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันเร่งพัฒนาคุณภาพ และวางแผนกลยุทธ์ให้แรงงานไทยมีความสามารถเพื่อแข่งขันในระดับโลก

โดย NIA เองก็มีสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ Innovation Foresight Institute: IFI ซึ่งคอยทำหน้าที่วิเคราะห์ทิศทางนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมความคิด อบรมยกระดับความสามารถ สร้างการวิจัยในการมองโจทย์เป้าหมาย รวมไปถึงบริการถ่ายทอดข้อมูลที่สะท้อนและบอกความเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กร ภาครัฐ และหน่วยงานเอกชนสามารถนำข้อมูลออกไปวางแผนธุรกิจ และคนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังเช่น Foresight อนาคตความยั่งยืน และอนาคตของการทำงานที่ได้กล่าวไปข้างต้น

แม้อนาคตจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่หากเรามีหน่วยงานที่สามารถ Foresight คาดการณ์สิ่งต่างๆ ก็จะช่วยให้เราสามารถมองหาแนวทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาข้อจำกัด สร้างแนวทางป้องกันภาพอนาคตอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://ifi.nia.or.th/649/ 
https://www.youtube.com/watch?v=lLUdZ8lCdv8 
https://ifi.nia.or.th/อนาคตของความยั่งยืน-future-of/ 
https://ifi.nia.or.th/อนาคตของการทํางาน-future-of-work/ 
https://ifi.nia.or.th/foresight/