สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Frederick Terman บิดาแห่งซิลิคอนวัลลีย์ สวรรค์ของสตาร์ทอัพ

บทความ 11 กรกฎาคม 2562 5,328

Frederick Terman 

บิดาแห่งซิลิคอนวัลลีย์ สวรรค์ของสตาร์ทอัพ


ในยุคปัจจุบันที่สตาร์ทอัพรุ่งเรือง ผู้คนต่างขวนขวายหาความรู้เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง หนึ่งในสวรรค์ของคนกลุ่มนี้ย่อมหนีไม่พ้นซิลิคอนวัลลีย์ (Silicon Valley) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย อาทิเช่น กูเกิล (Google) เฟซบุ๊ค (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) อีเบย์ (eBay) แอปเปิล (Apple) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไปจนถึงบริษัทไอทีน้อยใหญ่กว่าหมื่นบริษัทที่พร้อมใจกันคิดค้นนวัตกรรมออกสู่โลกมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ซิลิคอนวัลลีย์ยังรายล้อมไปด้วยโรงเรียนเทศบาลชั้นดีและมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ทว่าจุดเริ่มต้นของย่านที่เป็นดังหัวใจของเทคโนโลยีระดับสูงและสร้างรายได้ทางภาษีให้แก่แคลิฟอร์เนียไม่ได้เริ่มต้นจากนักธุรกิจ แต่เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า ดร.เฟรเดริค เทอร์แมน (Dr. Frederick Terman)

ผู้ผลักดันคนสำคัญ

ดร.เทอร์แมนเป็นผู้ผลักดันคนสำคัญที่ทำให้ซิลิคอนวัลลีย์เกิดขึ้นจริง ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาเชิญชวนนักวิจัยจากแล็บที่เคยทำงานร่วมกันสมัยสงครามโลกมาร่วมงานที่สแตนฟอร์ด ทำให้มหาวิทยาลัยนี้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี จากนั้นเขาเดินหน้าพัฒนากระบวนการผลิตนักศึกษาให้เป็นนักธุรกิจในย่านมหาวิทยาลัย เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศของซิลิคอนวัลลีย์

              

บิดาแห่งซิลิคอนวัลลีย์

ระบบนิเวศของซิลิคอนวัลลีย์เริ่มต้นจากการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Business Incubator for SMEs) หน่วยนี้จะให้คำแนะนำและเชิญชวนลูกศิษย์ให้เปิดบริษัทสตาร์ทอัพของตนเอง โดยใช้บ้านพักของอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ยังว่างอยู่เป็นพื้นที่จัดตั้งบริษัท แต่เมื่อเห็นว่าธุรกิจเติบโตช้า ดร.เทอร์แมนจึงชักชวนเพื่อนที่เป็นเจ้าของกิจการไอทีและเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลผู้คิดค้นทรานซิสเตอร์ ชื่อว่าวิลเลียม ชอกเลย์ (William Shockley) มาลงทุนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อเขาย้ายฐานการผลิตชิพคอมพิวเตอร์จากฝั่งตะวันออกมาเปิดโรงงานฝั่งตะวันตก ดร.เทอร์แมนก็ส่งทีมวิจัยของตนไปทำงานกับเขา ต่อมานักวิจัยเหล่านี้ออกไปเปิดบริษัทของตนเอง ย่านซิลิคอนวัลลีย์เลยเต็มไปด้วยนักพัฒนาเทคโนโลยีชั้นยอดจำนวนมาก และดร.เทอร์แมนได้กลายเป็นบิดาแห่งซิลิคอนวัลลีย์ในที่สุด


สวรรค์บนดินของเหล่าสตาร์ทอัพ

นอกเหนือจากแรงผลักดันของดร.เทอร์แมน ธรรมชาติของนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็สำคัญ นักศึกษาหลายคนอยากมาศึกษาที่นี่เพราะมีความฝันจะสร้างสรรค์นวัตกรรมและทำกิจการของตนเอง แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจทั่วไป นักศึกษาจึงต้องกล้าเสี่ยง กล้าล้มเหลว และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ในเวลาว่าง พวกเขาจึงมักจะทำโปรเจคต์ส่วนตัวด้วยการลองเล่นกับเทคโนโลยี พวกเขายังได้เรียนวิชาส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปิดให้นักศึกษาเข้าเรียนได้แม้ว่าวิชานั้นจะไม่ตรงกับคณะของตน เช่น วิชาด้านบริหารธุรกิจที่เปิดให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าเรียน เพราะสแตนฟอร์ดเชื่อในปรัชญาการพัฒนาคนให้รู้ลึกและรู้กว้าง นอกจากนี้ สแตนฟอร์ดยังเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาจัดงานบรรยายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับงานที่นักศึกษาอาจไม่ได้สัมผัสจากห้องเรียนโดยตรง กระตุ้นให้พวกเขาได้คิดว่าในอนาคตอยากทำงานลักษณะใด จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานในอนาคตได้อย่างไร เพราะมหาวิทยาลัยสนับสนุนนักศึกษาเต็มที่อย่างนี้นี่เอง นักศึกษาที่นี่จึงกล้าลองผิดลองถูกเพื่อจะเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ พร้อมเติบโตไปเป็นเจ้าของธุรกิจที่เก่งกาจต่อไป

จากจุดเริ่มต้นที่ดร.เฟรเดริค เทอร์แมนชักชวนนักวิจัยและนักธุรกิจมาทำงานในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย สู่การพัฒนาเป็นศูนย์รวมบริษัทไอทีอันดับต้นของโลก ทำให้เห็นว่าบิดาแห่งซิลิคอนวัลลีย์ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการเปลี่ยนแปลงโลก เขาสร้างสร้างบรรยากาศการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบสแตนฟอร์ด เมื่อผนวกกับความสามารถด้านการผลิตเทคโนโลยีระดับสูงแล้ว สวรรค์บนดินของสตาร์ทอัพอย่าง ซิลิคอนวัลลีย์ จึงถูกเนรมิตขึ้นมา

.

แหล่งอ้างอิง

https://www.digitalbusinessconsult.asia/view/2374/

https://thaipublica.org/2017/06/yanyong11/

https://medium.com/@kanitw/stanford-78d400aacecf

https://www.facebook.com/drwinaidahlan/posts/1782443855396917/