สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
มาแรงแซงเครื่องยนต์สันดาป ส่องสนาม EV Car เมื่อไทยปักธงเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย
🚙 ยานยนต์ไฟฟ้าตามถนนหนทาง กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงใน ณ ขณะนี้ เนื่องจากมีผู้เล่นเริ่มเข้ามาร่วมลงสนามแข่งขันทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้เราเห็นมากขึ้น
ความนิยมในปัจจุบัน เป็นผลมาจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น นโยบายภาครัฐ การที่บริษัทผู้ผลิตนำเสนอโมเดลที่หลากหลายตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และแนวโน้มสถานีชาร์จที่ค่อยๆ ทยอยเปิดตัว จนไม่เหลือข้อจำกัดแบบช่วงแรกที่หลายคนกังวลกัน
ตัดภาพมาที่ตลาดในประเทศไทยก็มีการเติบโตขึ้นอย่างคึกคัก โดยสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากกรมการขนส่งทางบก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 474.43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า กระแสยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ จึงขอชวนไปดูแนวโน้มที่น่าสนใจในอนาคตกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
⚡ สัญญาณแรกที่ส่งมาให้เห็นคือ More Miles/Charge ที่หลังจากนี้ การแข่งขันพัฒนาแบตเตอรี่จะเข้าสู่ช่วงดุเดือด หลายเจ้าต่างเริ่มทยอยเปิดตัวโมเดลที่วิ่งได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ อย่าง Volvo ก็ได้ส่งตัวโมเดล C40 และ XC40 Recharge Pure Electric Twin Motor มาพร้อมแบตเตอรี่ใหม่ที่ใหญ่ขึ้น จนสามารถวิ่งได้ถึง 645 กิโลเมตรต่อการชาร์จ หรือ Chevrolet พี่ใหญ่แห่งวงการรถกระบะก็ได้เปิดตัว Chevy Silverado EV ที่วิ่งได้ 640-720 กิโลเมตรต่อหนึ่งการชาร์จ
นอกจากนี้ การแข่งขันของตลาดแบตเตอรี่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องระยะทางเท่านั้น แต่ความเร็วในการชาร์จ ก็เป็นอีกส่วนที่หลายบริษัทต่างปล่อยหมัดเด็ดกันออกมาแบบสุดๆ
🔋 เมื่อไม่นานมานี้ นักศึกษาจากเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนาระบบการชาร์จแบบหล่อเย็น ที่ออกแบบให้ลดอุณหภูมิระหว่างชาร์จ จึงส่งผลให้กำลังไฟมีความเสถียร และย่นเวลาในการชาร์จให้สั้นลงกว่าเดิม หรือ Toyota ที่แม้จะเข้าสู่สนามช้ากว่าเพื่อน แต่ก็มาพร้อมกับการเปิดตัว Solid-State Battery ที่มีคุณสมบัติชาร์จไว ทนความร้อนมากกว่าลิเธียมไอออน ซึ่งในอนาคตตัวแบตเตอรี่ยังคงพัฒนาต่อได้อีกหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านกลไก หรือวัสดุที่ใช้ในการผลิตก็ตาม
💡 ต่อมาด้วยแนวโน้มเรื่องเทคโนโลยีถ่ายเทพลังงานจากยานพาหนะสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Vehicle to Grid Technology) ซึ่งจะเป็นที่หมายตาของนักลงทุนมากขึ้น โดยต่อจากนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นมากกว่าพาหนะสำหรับเดินทาง เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มเข้าไปมีบทบาทในการจัดการพลังงาน ทั้งในบ้าน ชุมชน หรือภาคอุตสาหกรรมผ่านระบบกริด (Grid System) มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่รถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่ป้อนกลับเข้าสู่กริดหรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก หรือทำหน้าที่เสมือนเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองโดยจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่บ้านพักอาศัยเพื่อใช้งานในเวลาจำเป็น คล้ายกับเป็นแบตสำรองเคลื่อนที่ เพื่อใช้งานทั้งในยามฉุกเฉิน หรือช่วง On-Peak ซึ่งหลังจากนี้ อาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีหลายส่วนตั้งแต่การสื่อสาร การตรวจจับ และการควบคุมขั้นสูงเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน
🚦 นอกจากระบบกริด ก็ยังมีระบบการทำงานของรถยนต์ที่ผู้ผลิตต้องเร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเซนเซอร์ตรวจจับ เพื่อติดตามความร้อนหรือการทำงานที่ผิดปกติอื่นๆ เพื่อช่วยจัดการความเสี่ยงเชิงรุก รวมถึงพัฒนาระบบนำทางด้วยเซนเซอร์และ AI ที่ต้องมีความแม่นยำในการวิเคราะห์สถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งจะมีบทบาทในการต่อยอดไปสู่การเป็นยานยนต์ไร้คนขับอย่างสมบูรณ์ได้
🤝 แนวโน้มสุดท้ายที่ถือได้ว่า เป็นข่าวดีให้กับผู้ใช้งานหลายคนก็คือ การที่ Tesla ได้เชิญชวนผู้ผลิตรายอื่นให้เข้ามาใช้พอร์ตชาร์จ NACS ของตนได้สำเร็จ ซึ่งมีหลายเจ้าให้การตอบรับ ไม่ว่าจะเป็น Ford, General Motors หรือ Mercedes-Benz โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดใช้เครือข่ายสถานีชาร์จร่วมกันได้ อีกทั้งยังมีการจับมือกันพัฒนามาตรฐานเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้มีความเสถียร มั่นคง และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหลังจากนี้
จากการที่ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นพื้นฐาน จึงได้วางเป้าหมายและสร้างโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิต EV แห่งเอเชีย ซึ่งถึงแม้เราจะมีความได้เปรียบด้านความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน แต่ก็ต้องรีบเหยียบคันเร่งกันนิด เพราะต้องเจอคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างอินโดนีเซีย ที่เขาเองก็มีจุดแข็งด้านต้นทุนแรงงาน และเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย
ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย NIA มีแพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation Business Platform) ซึ่งมีสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง (Electric Vehicle : EV) เป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้ 4 กลไกการสนับสนุน ได้แก่ กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) เพื่อนำไปใช้ทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาด ปรับปรุงนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ รวมถึงการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการลงทุน กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND) กลไกนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Loan Interest) และกลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Matching Interest for Working Capital)
ผู้ประกอบการที่รอโอกาสนี้อยู่ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนภายใต้โครงการนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Grant) สาขาธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง (Electric Vehicle : EV)
เข้ามาได้เลยที่ https://mis.nia.or.th (ตั้งแต่วันนี้ - 15 ธันวาคม 2566)
ศึกษารายละเอียดทุนและดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ https://mandatory.nia.or.th/
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://evchargingsummit.com/blog/the-top-7-2024-ev-charging-trends/
https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/setsawana/569222
https://www.tnnthailand.com/news/tech/151354/
https://www.novaoneadvisor.com/report/vehicle-to-grid-technology-market
https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2023/08/10/how-sensor-technologies-safeguard-electric-vehicles
https://www.salika.co/2023/08/11/autonomous-car-innovation-cav-test-field/
https://www.autospinn.com/2023/07/tesla-nacs-charging-port-131396
https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4up-when-thailand-wants-to-move-towards-electric-vehicle-hub