สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

"AgBiotech" คลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมการเกษตร

11 ตุลาคม 2565 6,624

"AgBiotech" คลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมการเกษตร 

 

DeepTech กำลังจะเป็นคลื่นลูกที่ 4 ของนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต โดยในอดีต คลื่นลูกที่ 1 ประกอบด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 2 คือการขับเคลื่อนโดยหน่วยปฏิบัติการขององค์กรเป็นหลัก เช่น IBM, XeroxParc พร้อมทีมสหวิชาชีพที่มีความสามารถสูง ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มจากการทำการวิจัยขั้นพื้นฐานเป็นหลัก ส่วนคลื่นลูกที่ 3 เริ่มจาก “Silicon Valley” โดยเน้นการพัฒนางานวิจัยด้านไอที ดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ และขณะนี้ คลื่นลูกที่ 4 เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อโลกมีสิ่งที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต” นับตั้งแต่นั้นมา

การลงทุนด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีลักษณะเด่นดังนี้

  1. ไม่ใช่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะ โดยร้อยละ 96 ของ DeepTech ใช้เทคโนโลยีอย่างน้อยสองอย่างและ ร้อยละ 66 ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่เป็นสหสาขาผนวกรวมเข้าด้วยกัน
  2. เป็นการปฏิวัติในยุคดิจิทัล เนื่องจาก DeepTech ได้เปลี่ยนนวัตกรรมจากโลกดิจิทัลสู่การพัฒนาเชิงลึกของโลกทางกายภาพ

 

นักลงทุนเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของธุรกิจ DeepTech ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสูง แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงทางการตลาดต่ำ ตามประมาณการเบื้องต้น เห็นได้จากการระดมทุนของ DeepTech เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2020 จาก $15B เพิ่มขึ้นมากกว่า $60B การเพิ่มจำนวนต่อการลงทุนจาก $360K ถึง $2M ระหว่างปี 2016 ถึง 2019 การประมาณการเบื้องต้นบ่งชี้ว่าการลงทุนใน DeepTech โดย “Smart Investors” เพิ่มขึ้นจาก $0.9B เป็น $5.2B ระหว่างปี 2016 และปี 2020

โดย 4 ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของกิจการ DeepTech มีดังนี้

  1. เป็นกลุ่มธุรกิจที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยมากกว่าร้อยละ 97 ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกได้ในระดับโลก
  2. มีการผนวกรวมเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อนำไปปรับใช้และคิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีการใช้วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมขั้นสูงในการแก้ปัญหา โดยมีพื้นฐานแนวคิดว่า เทคโนโลยีที่คิดค้นมานั้นจะต้องเกิดจากเทคโนโลยีที่หลากหลายและเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยมีรายงานว่ากว่าร้อยละ 96 ของธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึกใช้อย่างน้อยสองเทคโนโลยี โดยร้อยละ 66 ใช้มากกว่าหนึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง
  3. เป็นธุรกิจที่ใช้ DeepTech เพื่อเปลี่ยนสมการนวัตกรรมจากยุคดิจิทัลไปสู่การพัฒนาเชิงลึกด้านกายภาพ
  4. ธุรกิจนี้ต้องเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อหลากหลายเทคโนโลยี และสามารถเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้เลยที่นักวิจัยเพียงสองคนจะสร้างนวัตกรรมที่เป็นงานวิจัยเชิงลึกได้ โดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือการสนับสนุนจากสถาบันใดๆ เลย

รูปภาพที่ 1 กราฟแสดงการเติบโตในสตาร์ทอัพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลเชิงลึก (Deep Tech Startup Investment)

ภาพที่ 1 กราฟแสดงการเติบโตในสตาร์ทอัพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลเชิงลึก (Deep Tech Startup Investment)

 

รูปภาพที่ 2 กราฟแสดงการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลเชิงลึก (Deep Tech Startup Scale-ups)

ภาพที่ 2 กราฟแสดงการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลเชิงลึก (Deep Tech Startup Scale-ups)

 

เทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgTech) เป็นหนึ่งในสาขาที่มีโอกาสการเติบโตสูง เนื่องจากตลาดมีขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 234 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลกเริ่มมีการนำเทคโนโลยี DeepTech มาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น มีการประยุกต์ใช้ทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ และบล็อกเชนที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เห็นได้จากวิสาหกิจเริ่มต้นระดับโลกที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและมีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศไทย จากฐานข้อมูลสตาร์ทอัพของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเพียง 59 ราย ถือว่า น้อยมากทั้งที่การเกษตรเป็นโจทย์ที่ท้าทายบนพื้นฐานความถนัดของประเทศไทยมากที่สุด และมีสตาร์ทอัพที่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 ราย NIA ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสตาร์ทัอพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลเชิงลึก โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งจากรายงานผลการศึกษาของ Hello Tomorrow (ภาพที่ 1 และ 2) พบว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการเติบโตและดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ

 

เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยเองก็มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตอยู่ไม่น้อย การส่งเสริมและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งทาง NIA มีบทบาทหน้าที่เสมือนแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาสตร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนในภาคการเกษตร เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ รวมถึงขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศและในภูมิภาคอาเซียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเป็นสาขาที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มุ่งเน้นเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการสร้างให้เกิด AgBiotech Community เพื่อแลกเปลี่ยนองค์วามรู้และประสบการณ์ และเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และนักลงทุน ในการสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเติบโตขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียนต่อไปได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
กุลิสรา บุตรพุฒ 
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)