เริ่มต้นแล้วกับโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021

1 มิถุนายน 2564 – เริ่มต้นแล้วกับโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 โดย ดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม สนช. ได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และขั้นตอนการดำเนินการของโครงการฯ โดยมีสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศ (space economy) ที่ได้รับการเข้าเลือกทั้ง 10 รายเข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมในครั้งแรกนี้ได้รับเกียรติจากสตาร์ทอัพชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศจากประเทศญี่ปุ่นและเดนมาร์กมาร่วมบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมอวกาศระดับโลก นอกจากนั้นยังมีสตาร์ทอัพ Deep Tech ด้าน Robotics สัญชาติไทยอย่าง HG Robotics โดย ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้ก่อตั้ง มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการสร้างนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Space Technology)” เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ทำให้มองเห็นโอกาสและช่องทางการต่อยอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอวกาศ
                    สำหรับช่วงไฮไลท์ของกิจกรรมในวันนี้ สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจากสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ประสบความสำเร็จ จนมีผลงานที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลก 
                    ท่านแรก คุณ Yuya Nakamura President & CEO ของ Axelspace สตาร์ทอัพ series C ด้านการผลิตและประกอบดาวเทียมจากญี่ปุ่นที่ได้รับเงินลงทุนไปแล้วถึง 2,100 ล้านบาท Axelspace เป็นบริษัทเอกชนรายแรกของญี่ปุ่นที่นำส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ และนำข้อมูลที่ได้จากภาพถ่าย สัญญาณเรดาร์และอื่นๆ มาทำการวิเคราะห์เพื่อการใช้งานทั้งในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศแล้วถึง 5 ดวง เป้าหมายหลักของ Axelspace คือทำให้การผลิตดาวเทียมมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อทำให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ในวงกว้าง Axelspace ได้ร่วมมือกับ JAXA องค์กรสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น ในโครงการด้านอวกาศหลายโครงการ คุณ Yuya มีความเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยี เรื่องของอวกาศจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
                   สตาร์ทอัพต่างชาติท่านที่สองสตาร์ทอัพด้านอวกาศชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก คุณ Jacob Molbach Nissen, Chief Sales Officer ของบริษัท Space Inventor ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตดาวเทียมขนาดเล็กทั้ง Nano และ Microsatellites ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ในหลายประเทศ ล่าสุดเป็นหนึ่งในห้าบริษัทจากเดนมาร์กที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก European Space Agency (ESA) ด้วยแนวคิดที่ตั้งใจเติบโตสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านอวกาศระดับโลกตั้งแต่แรก “Think global from the very beginning” จึงทำให้ Space Inventor เติบโตและกลายเป็นสตาร์ทอัพด้านอวกาศระดับโลกได้ในที่สุด Space Inventor มีความโดดเด่นในการทำ customization ชิ้นส่วนต่างๆ ของดาวเทียมตามโจทย์ของลูกค้าในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นความแตกต่างจากคู่แข่งขันในตลาด ทำให้ Space Inventor สามารถเติบโตเป็นสตาร์ทอัพระดับโลกได้ในเวลาไม่นาน
                  ร่วมติดตามและให้กำลังใจสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศทั้ง 10 ราย ผ่านทาง https://nia.or.th/spaceeconomy/